x
icon-filter ค้นหาคอนโด
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

ข้อควรรู้ในการตรวจรับโอนคอนโดใหม่

icon 4 พ.ย. 63 icon 67,584
ข้อควรรู้ในการตรวจรับโอนคอนโดใหม่

เรื่องที่ยากเรื่องหนึ่งของคนซื้อคอนโดมือใหม่ คือตอนตรวจรับมอบห้องที่เพิ่งสร้างเสร็จนี่ละครับ คนที่มีพื้นฐานวิศวกรรม หรือสถาปัตยกรรมอยู่บ้าง อาจพอรู้เบื้องต้น แต่คนที่ไม่มีความรู้พวกนี้อาจต้องอาศัยคนที่มีประสบการณ์ หรือความรู้เรื่องพวกนี้ไปช่วยตรวจรับ วันนี้ เรามาดูกันครับว่า เราควรรู้อะไรเบื้องต้นก่อนไปตรวจรับห้องคอนโดกันบ้าง
ข้อแนะนำเบื้องต้นก่อนตรวจรับคอนโด
1. เน้นดูเป็นเรื่องๆ หรือเรียงเป็นห้องๆ ไป - เนื่องจากรายละเอียดที่ต้องดูในบ้านจะค่อนข้างมาก ขอแนะนำให้เน้นดูเป็นเรื่องๆ หรือไล่เป็นห้องๆ ให้จบไป พอเสร็จเรื่องหนึ่ง หรือห้องหนึ่ง เราก็เน้นดูเรื่องหรือห้องต่อไป เช่น เมื่อเดินเข้าห้องก็เริ่มเน้นไปที่ประตูก่อนเลย แล้วไล่ตรวจประตูทุกบานในบ้าน จากนั้นเน้นดูระบบไฟฟ้าต่อ ไล่ดูทุกปลั๊กไฟ ทดสอบไฟทุกดวง เป็นต้น หรือไล่ดูทุกเรื่องในห้องนั่งเล่นก่อน เมื่อเสร็จแล้วค่อยเข้าไปดูห้องนอน เป็นต้น ถ้าไล่ดูแบบนี้จะทำให้เราไม่ลืม หรือหลุดบางเรื่อง ยิ่งในทางปฏิบัติ เวลาตรวจรับ จะมีเจ้าหน้าที่โครงการมาชวนคุยหรือเดินไปเดินมาอยู่ข้างๆ เรา อาจทำให้เราลืม คุยเพลิน หรือมองข้ามเรื่องบางเรื่องได้
2. อย่าเชื่อเจ้าหน้าที่ - ปกติแล้ว เจ้าหน้าที่โครงการก็อยากให้มีการโอนบ้านให้มากที่สุด เร็วที่สุด และแก้งานน้อยที่สุด ดังนั้นผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่จึงขัดกับเราผู้ซื้อที่ต้องการได้บ้านที่ดีที่สุด ดังนั้น ถ้าเขาพูดอะไรเราคงต้องใช้หลักเหตุผลไตร่ตรองกันอีกทีนะครับ นอกจากนี้ เราควรตรวจสอบรายการแก้ไขที่เจ้าหน้าที่โครงการจดด้วยว่าครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ และขอสำเนารายการพวกนี้เก็บไว้สำหรับการตรวจรอบต่อไปด้วย ทางที่ดี หาคนที่พอรู้เรื่องการตรวจรับไปเป็นเพื่อนก็จะดีเพื่อช่วยกันดู ช่วยกันจด และตรวจเช็คความถูกต้องพวกนี้ครับ
3. ถ่ายรูปไว้ให้หมด - เนื่องจากบางทีรายการที่ต้องแก้ไขมีมาก จึงควรถ่ายรูปเก็บไว้ว่าก่อนแก้ไขเป็นอย่างไร และหลังจากแก้ไขแล้วให้เปรียบเทียบกับรูปที่ถ่ายไว้ จะได้เห็นความแตกต่างชัดเจน และดูว่าทางโครงการได้แก้ไขอะไรให้เราหรือไม่ อย่างไร และควรชวนเพื่อนหรือญาติพี่น้องไปช่วยกันดู หรือถ่ายรูปด้วย หลายตาย่อมดีกว่าตาเดียวอยู่แล้วครับ
4. โอนแล้วอาจแก้ยากหรือใช้เวลา - ถ้าเป็นไปได้ควรโอนบ้านหลังจากแก้ไขจุดบกพร่องทั้งหมดเสร็จแล้ว เพราะถ้าเราลงนามรับบ้าน และตกลงไปโอนกับโครงการแล้ว ต้องยอมรับเลยว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความกระตือรือร้นของเจ้าหน้าที่โครงการที่จะช่วยท่านแก้ไขข้อบกพร่องอาจลดลงทันที หรือถ้าเจอเจ้าหน้าที่ดีๆ ก็อาจไม่ลดลง แต่เขาอาจจะไปให้ความสำคัญกับงานที่ต้องโอนสำหรับบ้านต่อไป ดังนั้น เวลาที่เขาจะช่วยเหลือ หรือตามงานให้ท่านอาจน้อยลงไปเองโดยปริยาย
5. ไม่ควรตรวจตอนกลางคืน - ถ้าเป็นไปได้ ควรตรวจสอบระหว่างวัน เช่น ตอนเช้า หรือตอนบ่าย เพื่อที่เราจะได้มีเวลาดูได้เต็มที่ และในตอนกลางคืน แสงสว่างอาจไม่พอ หรือแสงจากหลอดไฟอาจหลอกตา จะทำให้เราอาจไม่เห็นข้อบกพร่อง หรืองานปูน หรืองานกำแพงบางอย่างที่ไม่ดีได้ นอกจากนี้การตรวจพื้นที่นอกตัวบ้านในตอนกลางคืน จะทำได้ค่อนข้างยาก และไม่สะดวกเท่าที่ควร
6. ไม่เสร็จจริง ไม่ต้องตรวจ - หากโครงการโทรมาให้ท่านไปตรวจโดยบอกว่าบ้านเสร็จแล้ว และ Quality Control (QC) ของโครงการได้ตรวจสอบหมดแล้ว แต่พอไปตามนัด พบว่าบ้านไม่อยู่ในสภาพที่สร้างเสร็จจริง หรือตรวจหมดแล้วโดย QC จริง ท่านมีสิทธิ์ปฏิเสธไม่ตรวจเลยในวันนั้นได้ และย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่า ถ้าบ้านไม่เสร็จแบบเรียบร้อยตามมาตรฐาน QC จริง ไม่ต้องนัดหมายมาให้ตรวจเลย เพราะในทางปฏิบัติ บางโครงการมีการโยนภาระหน้าที่การ QC มาให้ลูกบ้าน แทนที่ตัวเองจะ QC ให้เรียบร้อยก่อน

สิ่งที่ควรตรวจสอบ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า วิธีการและรายละเอียดการตรวจของแต่ละเรื่องมีมากมายตั้งแต่ระดับง่ายสำหรับคนทั่วไป หรือจนถึงระดับยากสำหรับคนที่มีความรู้ทางการก่อสร้าง หรือเชิงช่าง ในที่นี้ จะพูดถึงในระดับเบื้องต้นอย่างง่ายๆ สำหรับคนทั่วไปนะครับ ถ้าท่านอยากให้ตรวจในระดับมืออาชีพมากๆ ปัจจุบันก็มีบริษัทรับจ้างตรวจรับคอนโดให้ท่านเลือกใช้บริการได้ครับ หลักๆ ในการตรวจแบบง่ายๆ เราพอจะแยกตัวคอนโดออกได้เป็นส่วนๆ ดังนี้ครับ
1. ระบบไฟฟ้า
อุปกรณ์ที่ควรมี เรื่องที่ควรทำ หรือตรวจสอบ
  • ไขควงตรวจไฟฟ้า
  • ไฟฉาย
  • โทรศัพท์แบบใช้ถ่าน 2 เครื่อง
  • เปิดไฟ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด (เช่น แอร์ พัดลมดูดอากาศ) เพื่อทดสอบจริงว่าหากเราใช้งานทุกอย่างพร้อมกัน ระบบไฟฟ้าจะมีปัญหาใดหรือไม่ แนะนำว่าเดินเข้าห้องแต่แรก ก็เปิดได้เลย อย่างน้อยทิ้งไว้ตลอดเวลาที่เราตรวจห้องนั้นๆ
  • ใช้ไขควงตรวจไฟฟ้ามาเสียบดูที่เต้าไฟฟ้าทุกตัวในบ้านว่าแต่ละปลั๊กใช้งานได้หรือไม่
  • ตรวจว่ามีไฟฟ้ารั่วหรือไม่ โดยการปิดอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด แต่ไม่ปิดระบบแผงไฟฟ้าหลัก ถ้ามิเตอร์ไฟฟ้ายังเดิน แสดงว่ามีไฟฟ้ารั่ว
  • ตรวจสอบสัญญาณโทรศัพท์โดยเสียบโทรศัพท์ที่เตรียมมา 2 จุด แล้วลองใช้ดู
  • ห้องน้ำมีการเดินสายไฟเอาไว้สำหรับเครื่องทำน้ำอุ่นหรือไม่
  • ปลั๊กไฟฟ้าในระเบียงคอนโด และในห้องน้ำ ควรมีฝาปิดกันน้ำเพื่อป้องกันอันตราย
  • หากเดินสายไฟฟ้าแบบลอยไม่ได้ฝังเข้ากำแพง ควรมีการตีกิ๊บเรียบร้อย
  • สายไฟบนฝ้า หรือใต้หลังคามีการร้อยใส่ท่อเรียบร้อยหรือไม่
2. ระบบประปาสุขาภิบาล
อุปกรณ์ที่ควรมี เรื่องที่ควรทำ หรือตรวจสอบ
  • ถังใส่น้ำเพื่อเททดสอบความลาดเอียงของพื้นว่าจะไม่มีน้ำขัง
  • เปิดน้ำพร้อมกันหลายๆ จุด ดูว่าแย่งน้ำ หรือแรงดันน้ำตกหรือไม่ และดูว่าก๊อกน้ำ หรือใต้อ่างตามจุดต่างๆ มีรอยรั่วหรือไม่
  • เปิดน้ำให้เต็มอ่างทุกอ่าง และดูว่าช่องน้ำล้นแต่ละอ่างทำงานระบายน้ำหรือไม่
  • เมื่อน้ำเต็มแต่ละจุด ให้เปิดรูระบายออก ถ้ามีอากาศปุดขึ้นมา ควรให้แก้ไขเพราะท่ออากาศอาจทำงานไม่ดี หรือเล็กเกินไป หรือถ้าน้ำระบายไม่หมด มีน้ำขัง แสดงว่ารูระบายอาจมีปัญหา หรือการลาดเอียงของพื้นอาจไม่ดี
  • ปิดก๊อกน้ำทุกจุด แล้วดูมิเตอร์น้ำ ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่ามีน้ำรั่ว
  • ก๊อกน้ำ และอุปกรณ์สุขภัณฑ์ทุกตัวไม่โยกเยกโคลงเคลง และมีการติดตั้งแน่นหนา
  • ทดสอบกดชักโครกทุกตัวเพื่อทดสอบว่าชักโครกทุกตัวทำงานได้ดี และไม่มีอะไรอุดตัน
  • หากรูระบายน้ำจุดใดก็ตามมีกลิ่น ให้เจ้าหน้าที่จดแก้ไข
3. ประตูหน้าต่าง
เรื่องที่ควรทำ หรือตรวจสอบ
  • กุญแจ กลอนประตูหน้าต่าง และบานพับใช้การได้ดีหรือไม่ การติดตั้งเลอะเทอะหรือไม่สนิทหรือไม่ และถ้ามีลูกบิดประตู ให้ลองออกแรงดึงเพื่อทดสอบว่าลูกบิดยึดแน่นกับประตู และติดตั้งแข็งแรงดีหรือไม่
  • ถ้าเป็นประตู หรือหน้าต่างแบบบานเลื่อน จะต้องเลื่อนได้ลื่น ไม่ตกราง และถ้ามีกระจกควรตรวจสอบว่าไม่มีรอยแตกร้าว
  • หากเป็นประตูไม้ (โดยเฉพาะประตูห้องน้ำ) มีอาการบวมที่จะทำให้ปิดประตูลำบาก หรือปิดได้ไม่สนิทหรือไม่
  • ประตูเมื่อปิดสนิทแล้วเหลือร่องใต้ประตูมากจนมีเสียงเล็ดลอดเข้ามาได้มากหรือไม่
  • ประตูหน้าต่างมีสีเลอะเทอะหรือไม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นขอบ หรือมุมติดกับกำแพงที่มีการทาสี
  • วงกบโดยรอบต้องได้รับการติดตั้งอย่างเรียบร้อย และแนบสนิทกับผนัง เมื่อปิดประตู หรือหน้าต่างแล้วบานช่องเหล่านี้ต้องแนบสนิทกับวงกบ มิฉะนั้น อาจเป็นช่องให้น้ำซึมเข้ามาได้

4. พื้น
อุปกรณ์ที่ควรมี เรื่องที่ควรทำ หรือตรวจสอบ
  • ถุงเท้า 
  • ลูกแก้ว
  • เหรียญ 10 บาท
  • พื้นต้องเรียบ และหากเป็นพื้นระเบียงควรมีความลาดเอียงของพื้นในระดับเหมาะสมเพื่อการระบายน้ำลงร่องระบายน้ำ และไม่เกิดน้ำขัง
  • บัวพื้น หรือบัวเชิงผนังติดตั้งเรียบร้อยดีหรือไม่ สีทาเรียบร้อย และมีช่องว่างหรือร่องระหว่างพื้นกับบัวหรือไม่
  • นำลูกแก้วมาวางบนพื้น ถ้าลูกแก้วไหลไปรวมอยู่ที่เดียวกันแสดงว่าพื้นเป็นหลุมไม่เรียบเท่ากัน
  • ลองเดินลากเท้าดูว่ามีสะดุด หรือปูพื้นไม่เรียบตรงจุดไหนบ้าง
  • เคาะเหรียญดูตามพื้นว่ามีเสียงเหมือนโพรง หรือช่องว่างใต้พื้นหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าปูนใต้พื้นไม่เต็มพื้นที่ หากใช้ไปเรื่อยๆ อาจกะเทาะแตก หรือหลุดออกมาได้
  • หากเป็นพื้นไม้ธรรมชาติ หรือไม้ปาเก้ สี หรือลายของไม้ธรรมชาติอาจไม่สม่ำเสมอเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าสี หรือลายแตกต่างหรือโดดกันออกมามากๆ จนสะดุดตา หรือไม่สวย เราอาจขอให้เขาแก้ไข หรือเปลี่ยนได้
  • พื้นผิวโดยรวมต้องสะอาดไม่เลอะคราบปูน หรือคราบสกปรก
5. กำแพงผนัง
อุปกรณ์ที่ควรมี เรื่องที่ควรทำ หรือตรวจสอบ
  • เหรียญ 10 บาท
  • ไฟฉาย
  • ตรวจสอบความลาดเอียง การได้ดิ่งตั้งฉากของผนัง และเสา โดยให้เอาหน้าแนบดูกับกำแพงหรือผนังจะเห็นได้ง่ายกว่าการยืนมองตรงๆ
  • ถ้ามีวอลล์เปเปอร์ ตรวจสอบว่าติดได้เรียบเสมอกันดีหรือไม่
  • ผนังฉาบปูนต้องไม่มีรอยแตก และได้ระดับ เวลาส่องกับแดด หรือเวลาฉายไฟส่อง ไม่เห็นรอยปูดหรือยุบ
  • หากมีการทาสี สีจะต้องทาอย่างสม่ำเสมอเรียบร้อย ไม่มีรอยด่าง
  • ไม่มีรอยร้าวบริเวณเสา และคาน
  • งานปูนในส่วนที่เป็นซอกมุมไม่ควรมีร่อง หรือรูแหว่ง เลอะเทอะ และควรจะต้องดูเรียบร้อย
  • เคาะเหรียญตามบริเวณที่มีการปูกระเบื้องตามผนัง หรือกำแพงว่ามีเสียงเหมือนเป็นโพรง หรือมีช่องว่างใต้กระเบื้องหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่าปูนใต้กระเบื้องไม่เต็มพื้นที่ หากใช้ไปเรื่อยๆ อาจกะเทาะแตก หรือหลุดออกมาได้
  • บัวพื้น หรือบัวเชิงผนังติดตั้งเรียบร้อยดีหรือไม่ สีทาเรียบร้อย และมีช่องว่างหรือร่องระหว่างกำแพงกับบัวหรือไม่
6.เพดาน
เรื่องที่ควรทำ หรือตรวจสอบ
  • มีร่องรอยของความชื้น หรือคราบน้ำบนตัวฝ้าหรือไม่ (เช่นรอยสีน้ำตาล หรือครีมอ่อนๆ) ถ้ามีให้สันนิษฐานก่อนว่าอาจมีการรั่วซึมจากน้ำด้านบน
  • ฝ้าเพดานอาจมีหลายชนิด เช่นฝ้ายิปซั่ม ฝ้าแบบทีบาร์ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหนหลักๆ คือต้องเรียบได้ระดับเท่ากันทั้งห้อง ฉาบได้เรียบมองไม่เห็นคลื่น หรือสูงๆ ต่ำๆ
  • บัวฝ้าเพดาน (ถ้ามี) ติดตั้งเรียบร้อยดีหรือไม่ สีทาเรียบร้อย และมีช่องว่างหรือร่องระหว่างเพดานกับบัวหรือไม่
  • โคมไฟฟ้าบนฝ้าเพดานมีการติดตั้งเข้าตำแหน่งถูกต้อง และแน่นหนาทุกตัวหรือไม่
  • เซนเซอร์ตรวจจับควันไฟมีการติดตั้งบนฝ้าเพดานครบทุกตำแหน่งที่ควรต้องติด และติดตั้งได้แน่นหนาทุกตัวหรือไม่

สิ่งที่ควรทำหลังตรวจสอบ
เมื่อตรวจห้องรับมอบกันเป็นที่พอใจแล้ว ก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่พวกเราควรให้ความสำคัญต่อเนื่องดังต่อไปนี้นะครับ
1. ใบรับประกันสินค้า
อย่าลืมขอใบรับประกันสินค้า และรีโมทคอนโทรลของอุปกรณ์ต่างๆ ภายในคอนโดมาให้หมดนะครับ เช่น แอร์ ทีวี เครื่องดูดอากาศ (ทั้งหมดนี้ถ้ามีแถม) เพราะหากพบปัญหาในภายหลัง เราจะได้นำไปเคลมได้
2. แบบแปลนผัง Layout
ถ้าเป็นไปได้ บางโครงการอาจมีแบบแปลนระบบประปา ผังไฟฟ้า หรือสุขาภิบาลให้ด้วย (เช่น ทำเป็นแผ่นซีดีให้) ถ้าโครงการเรามีควรขอมาเก็บไว้ด้วย เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าตำแหน่งสายไฟ หรือท่อน้ำอยู่ตรงไหน ถ้ามีความจำเป็นต้องเจาะกำแพงเราจะได้ระมัดระวังไม่ให้ไปโดน หรือถ้าเราต้องการให้ช่างย้ายตำแหน่งอุปกรณ์บางอย่าง ช่างจะได้รู้ว่าตำแหน่งปัจจุบันอยู่ตรงไหน และวางสายหรือท่ออยู่ตรงไหนบ้าง เป็นต้น
3. เบอร์สี หรือตัวอย่างแผ่นกระเบื้อง
ถ้าเป็นไปได้ก็ขอเบอร์สีที่ทาภายในห้อง หรือตัวอย่างแผ่นกระเบื้องที่ใช้ในห้องมาเก็บไว้ เพื่อที่ว่าในอนาคต เผื่อต้องซ่อม หรือทาสีใหม่ เราจะได้สี หรือลายกระเบื้องที่ใกล้เคียง หรือตรงกับของเดิมให้มากที่สุด
4. กุญแจ / บัตรเข้าออก
ตรวจรับกุญแจทุกดอกภายในห้องให้ครบถ้วน และเช็คดูว่าทั้งหมดนี้ใช้เปิดปิดได้ รวมถึงคีย์การ์ดเข้าออกประตูคอนโด และโรงจอดรถด้วย
5. ระยะเวลาการรับประกัน
อย่างไรก็ดี แม้เราจะลงนามรับห้องคอนโดแล้ว แต่สัญญามาตรฐานก็คุ้มครองว่าเจ้าของโครงการจะต้องให้การรับประกัน (Warranty) คอนโดอย่างต่อเนื่องด้วย โดยถ้าเป็นเรื่องของโครงสร้าง และอุปกรณ์ที่เป็นส่วนประกอบอาคารจะครอบคลุมไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันจดทะเบียนอาคารชุด และถ้าเป็นส่วนอื่นๆ นอกเหนือจากข้างต้นจะครอบคลุมไม่น้อยกว่า 2 ปีนับตั้งแต่วันจดทะเบียนอาคารชุด
ท้ายที่สุดแล้ว วิธีการข้างต้นนี้เป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้นเท่านั้น เพราะในท้ายที่สุด งาน หรือการติดตั้งบางอย่างดูจากภายนอกตอนตรวจก็ดูเหมือนจะดูดีโอเคไม่มีปัญหา แต่เมื่อใช้ไปสักพักความบกพร่องในงานช่าง หรือการติดตั้งก็มักจะเริ่มปรากฎให้เห็นเมื่อเราเข้าอยู่แล้ว ตัวอย่างที่เคยเจอก็เช่น ความลาดเอียงในการติดตั้งแอร์ไม่เหมาะสมทำให้เริ่มมีน้ำรั่วออกมากจากตัวแอร์ หรือบัวพื้นเริ่มปริออกมาจากผนัง เป็นต้น ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็คงต้องเรียกช่างโครงการมาแก้ให้อีกที ดังนั้น แม้จะตรวจรับกันดีแล้ว แต่ก็ควรทำใจเผื่อสำหรับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้ที่เราอาจต้องเจอเมื่อเข้าอยู่จริงด้วยนะครับ เป็นเรื่องธรรมดาที่เจอกันประจำครับ!!

แท็กที่เกี่ยวข้อง ตรวจรับโอนคอนโด
Condo Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Condo Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)