สินเชื่อแบบไหนดี แบบไหนเหมาะ...ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเลือกกู้!!

icon 23 มิ.ย. 60 icon 19,574
สินเชื่อแบบไหนดี แบบไหนเหมาะ...ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเลือกกู้!!

สินเชื่อแบบไหนดี แบบไหนเหมาะ...ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเลือกกู้!!

ปัจจุบันหลายคนหันมา "กู้เงิน" หรือ "เป็นหนี้" กับสถาบันการเงินกันมากขึ้น เพราะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า มีความเป็นธรรม และไม่ต้องหวาดกลัวกับการทวงหนี้แบบโหดๆ สิ่งสำคัญในการตัดสินใจขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน นอกจากความสามารถในการชำระหนี้แล้วก็คือ การขอสินเชื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์และความต้องการของการใช้เงินของเรา เพราะสินเชื่อแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จึงถูกออกแบบมาให้มีอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระที่เหมาะสมกับสินเชื่อประเภทนั้นๆ
การทำความเข้าใจรายละเอียดของสินเชื่อแต่ละประเภท จะช่วยให้เรามีข้อมูลในการตัดสินใจ "เป็นหนี้" ได้อย่างเหมาะสม และรอบคอบยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ มีบริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลายรูปแบบเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และความต้องการของการใช้เงินของลูกค้า วันนี้ CheckRaka.com จะชวนเพื่อนๆ มาดูกันว่ามีรูปแบบอะไรกันบ้าง...

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย


บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 สำหรับทุกคน แต่การจะซื้อบ้านด้วยเงินสดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีราคาค่อนข้างสูง บางคนต้องเก็บเงินทั้งชีวิตเพื่อให้ได้มีบ้านสักหลัง ซึ่งสถาบันการเงินเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้จึงได้ออกแบบให้การผ่อนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวนานกว่าสินเชื่อประเภทอื่น แต่จะนานแค่ไหน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอายุของผู้ขอสินเชื่อ โดยสูงสุดมักไม่เกิน 30 ปี
สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไป แต่มักใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัว (Floating Rate) เช่น MLR (Minimum Loan Rate) หรือ MRR (Minimum Retail Rate) โดยจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่มากหรือน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงนี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ นโยบายสินเชื่อและต้นทุนของสถาบันการเงินนั้น นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ขอสินเชื่ออาจต้องเป็นผู้รับภาระ เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าสำรวจ และประเมินราคาหลักประกัน
คิดก่อนซื้อบ้าน
การตัดสินใจซื้อบ้านนับเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต จึงจำเป็นที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมีมากมาย เช่น ทำเลที่ตั้ง จำนวนสมาชิกในบ้าน ความสะดวกในการเดินทาง ราคา และความน่าเชื่อถือของโครงการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อ คือ ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของเรา เพราะการซื้อบ้านที่ถูกใจแต่เกินกำลังอาจนำมาซึ่งปัญหา สุดท้ายอาจไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่บ้านในฝัน โดยความสามารถในการชำระหนี้ของเราพิจารณาได้จาก
  • เงินคงเหลือในแต่ละเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายจำเป็นและหนี้สินอื่นๆ
  • เงินออมที่มีอยู่เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินดาวน์บ้านก่อนเริ่มผ่อน
  • วงเงินที่จะได้รับ และอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
  • จำนวนงวด และจำนวนเงินที่ผ่อนในแต่ละงวด 

เช่าซื้อรถยนต์


แม้ปัจจุบันจะมีระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่รถยนต์ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของใครหลายๆ คน เพราะไม่เพียงพาเราไปที่ต่างๆ ที่ต้องการ แต่สำหรับบางคนยังเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพได้ด้วย
รถยนต์เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีราคาไม่น้อย สถาบันการเงินจึงมีบริการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีทั้งสำหรับรถใหม่ และรถใช้แล้วให้เลือกใช้บริการ
  • รถใหม่ สถาบันการเงินมักให้วงเงินประมาณ 75 - 80% ของราคารถยนต์อีก 20 - 25% ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์
  • รถใช้แล้ว วงเงินจะขึ้นอยู่กับสภาพรถ ระยะทาง อายุการใช้งาน และภาวะเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยของรถใช้แล้วจะสูงกว่า เพราะเมื่อเทียบกับรถใหม่แล้ว สถาบันการเงินที่ให้เช่าซื้อเพื่อซื้อรถใช้แล้ว มีความเสี่ยงสูงกว่าหากต้องนำรถใช้แล้วมาขายทอดตลาด
ในการเช่าซื้อรถยนต์ ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินเป็นงวดๆ โดยสามารถนำรถมาใช้งานได้ก่อนแม้ยังจ่ายเงินไม่ครบ แต่กรรมสิทธิ์ในรถจะยังไม่เป็นของผู้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระเงินครบตามสัญญา ส่วนการคิดดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะคิดแบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) ซึ่งคิดจากเงินต้นทั้งจำนวนและระยะเวลาการผ่อนชำระทั้งหมด
รู้ไว้...ให้ฉุกคิด
  • เมื่อตัดสินใจซื้อ "รถ" แล้ว ต้องทำใจด้วยว่า ราคาย่อม "ลด" ไปตามความเสื่อมที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
  • อย่าติดกับดักจ่ายน้อยๆ (แต่จ่ายนานๆ) เพราะการเพิ่มเงินผ่อนต่อเดือนอีกเล็กน้อย โดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและการออมเงินเผื่อเหตุฉุกเฉิน จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยและปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
  • นอกจากต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ต้องไม่ลืมนึกถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้รถ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่า พ.ร.บ. ค่าต่อทะเบียน ค่าเบี้ยประกัน ค่าที่จอดรถ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางรายการจะสูงขึ้นตามราคาของรถที่ซื้อด้วยเช่นกัน
รู้...ก่อนทำสัญญาเช่าซื้อรถ
ก่อนที่จะตัดสินใจลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถ เราควรทราบถึงสาระสำคัญบางประการของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ดังนี้
  • สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ต้องระบุราละเอียดต่างๆ ตามที่กำหนด เช่น ราคารถ อัตราดอกเบี้ยที่เช่าซื้อ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด วันที่ชำระเงินในแต่ละงวด
  • เมื่อผู้เช่าซื้อจ่ายเงินครบตามสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถจะตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนรถให้เป็นชื่อของผู้เช่าซื้อภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารประกอบการจดทะเบียนครบถ้วน
  • ถ้าผู้เช่าซื้อต้องการจ่ายค่าเช่าซื้อทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีก่อนกำหนด ผู้ให้เช่าซื้อต้องให้ส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดจ่าย (คำนวณตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วยเรื่องสัญญาเช่า)
  • ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการติดตามทวงถามหนี้ทั้งหมดตามที่ผู้ให้เช่าซื้อได้จ่ายไปตามจริง
  • สัญญาเช่าซื้ออาจถูกยกเลิก (และอาจนำไปสู่การถูกยึดรถได้ในที่สุด) หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกัน และผู้ให้เช่าซื้อได้มีจดหมายลงทะเบียนตอบรับแจ้งผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง และผู้เช่าซื้อไม่ได้ปฏิบัติตาม 

บัตรเครดิต


บัตรเครดิตมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำให้เราซื้อสินค้า และบริการได้โดยที่ยังไม่ต้องจ่ายเงินทันที สามารถถอนเงินสดมาใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน และสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัล แต่ผู้ถือบัตรก็ต้องรู้จักใช้อย่างมีวินัย และเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นได้
การสมัครบัตรเครดิต ผู้สมัครบัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรหลักจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ออกบัตรจะให้วงเงินได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ หรือมีทรัพย์สินอื่น เช่น เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือการลงทุนในกองทุนรวม ตามจำนวนที่แบงก์ชาติกำหนด ซึ่งวงเงินที่ได้รับอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทของทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจทำบัตรเครดิตควรอ่านรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ในการทำบัตรเครดิตของผู้ออกบัตรหลายแห่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบ เช่น
  • ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี และเงื่อนไขการขอยกเว้นค่าธรรมเนียม
  • ระยะเวลาชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะผู้ที่จ่ายเงินคืนเต็มจำนวนเท่านั้น (กรณีชำระคืนยอดซื้อสินค้าและบริการเพียงบางส่วนหรือเบิกถอนเงินสดมาใช้จะไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย)
  • วันที่เริ่มคิดดอกเบี้ย ในการเบิกถอนเงินสดผู้ออกบัตรจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ถอนเงิน ขณะที่การซื้อสินค้าและบริการ หากชำระไม่เต็มจำนวนผู้ถือบัตรก็ต้องเสียดอกเบี้ย ซึ่งผู้ออกบัตรแต่ละแห่งอาจคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันไป ได้แก่ เริ่มคิดจากวันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า วันสรุปยอดรายการ หรือวันที่ต้องชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ แต่โดยทั่วไปจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า
  • การผ่อนชำระเงินขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งสิ้น
  • เงื่อนไขการนำบัตรเครดิตไปใช้ในต่างประเทศ จะมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2 - 2.5% ของยอดใช้จ่ายและเบิกถอนเงินสด (คำนวณรวมในอัตราแลกเปลี่ยนที่แสดงในใบแจ้งหนี้แล้ว) ในกรณีที่มีการคืนสินค้าแม้จะคืนภายในวันที่ซื้อ ผู้ถือบัตรอาจต้องรับผลขาดทุนจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณค่าสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาระหว่างการซื้อและคืนสินค้า ซึ่งเราอาจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตร
  • ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่น รวมกันไม่เกิน 20% ต่อปี ในกรณีถอนเงินสดจะมีค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดไม่เกิน 3% ของจำนวนเงินที่เบิกถอน และหากผิดนัดชำระหนี้ก็อาจมีค่าติดตามทวงถามหนี้ด้วย
  • สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ติดมากับบัตร เช่น การสะสมคะแนนแลกของรางวัล ส่วนลดร้านอาหาร ที่จอดรถพิเศษในห้างสรรพสินค้า
  • รายละเอียดอื่นๆ เช่น จุดบริการรับชำระเงินและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องการสมัครบัตรเสริมและภาระหน้าที่ของผู้ถือบัตรหลักที่มีต่อบัตรเสริม การทำบัตรใหม่หากบัตรหาย การขอยกเลิกบัตร
หลักการง่ายๆ ที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากหนี้บัตรเครดิต
  1. ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  2. จ่ายหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะจ่ายได้
  3. จ่ายให้ตรงกำหนดชำระเงิน
  4. อย่าเบิกถอนเงินสดจากบัตรใบอื่นที่มีมาโปะวนกันไปเรื่อยๆ แต่ควรหาจากแหล่งอื่นที่มีดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาชำระหนี้บัตรเครดิต หรือการตัดใจขายทรัพย์สินหรือนำเงินออมมาปลดหนี้ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
  5. เจรจาหารือกับผู้ออกบัตรแต่เนิ่นๆ เพื่อวางแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 

สินเชื่อส่วนบุคคล


เป็นสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้แก่บุคคลธรรมดาเพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการเพื่อการบริโภค (ไม่รวมรถยนต์และรถจักรยานยนต์) โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ
สินเชื่อประเภทนี้มีหลายรูปแบบ เช่น ทำสัญญา และรับเงินไปทั้งก้อน ทำสัญญาเพื่อรับวงเงินหมุนเวียนแล้วใช้บัตรกดเงินสดทยอยกดเงินออกมาเท่าที่ต้องการจะใช้ในแต่ละครั้ง หรือทำสัญญาเช่าซื้อสินค้า โดยผู้ให้สินเชื่อสามารถอนุมัติวงเงินให้ผู้ขอสินเชื่อแต่ละรายได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หรือของกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากเฉลี่ยย้อนหลังไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งผู้ให้สินเชื่อจะเป็นผู้กำหนดเองว่ารายได้หรือกระแสเงินสดเฉลี่ยเท่าใดถึงจะรับพิจารณาให้สินเชื่อ
สำหรับอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 28% ต่อปี โดยคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก อีกทั้งผู้ให้สินเชื่ออาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นตามที่จ่ายจริงและสมควรแก่เหตุได้ เช่น ค่าติดตามทวงหนี้ ค่าอากรแสตมป์

สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ


เป็นสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการลงทุนหรือขยายกิจการ อาทิ สร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจมีหลายประเภท เช่น สินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อเพื่อการนำเข้า-ส่งออก มาลองทำความรู้จักกับสินเชื่อ 2 รูปแบบ คือ สินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน กับสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
สินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน (Term Loan)
ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะยาวที่กำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน ผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อประเภทนี้จะต้องยื่นแผนธุรกิจที่บอกถึง
  • วัตถุประสงค์ที่จะนำเงินไปใช้
  • แหล่งเงินที่จะมาใช้ชำระหนี้
  • หลักประกัน เช่น ที่ดิน โรงงาน หรือผู้ค้ำประกัน
อย่างไรก็ตาม วงเงินสินเชื่อที่จะได้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ ความน่าเชื่อถือ และความสามารถในการชำระหนี้คืนของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ
สำหรับอัตราดอกเบี้ย สถาบันการเงินมักใช้ MLR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งอัตราที่เรียกเก็บจากผู้ขอสินเชื่ออาจมากกว่าหรือน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงก็ได้ ขึ้นกับต้นทุนเงินของผู้ให้กู้ ความเสี่ยงของผู้กู้ และความเสี่ยงของประเภทธุรกิจของผู้กู้
สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Credit)
เป็นสินเชื่อระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ เช่น นำมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ซึ่งส่วนใหญ่มักยื่นขอวงเงินไปพร้อมกับการยื่นขอสินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน แล้วค่อยเบิกเงินเมื่อต้องการใช้
ผู้ให้สินเชื่อมักกำหนดเงื่อนไขการชำระสินเชื่อประเภทนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่เข้ามา เช่น เมื่อได้รับเงินจากการขายสินค้าและบริการให้นำมาชำระคืนก่อน แล้วค่อยเบิกไปใช้ใหม่เมื่อต้องการ หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องยื่นขออนุมัติวงเงินใหม่ ยกเว้นมีความจำเป็นทางธุรกิจอยากขอวงเงินเพิ่ม หรือผู้ให้สินเชื่อต้องการลดวงเงินเนื่องจากเห็นว่าลูกหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ วงเงินเบิกเกินบัญชี (Overdraft หรือ O/D) ซึ่งทำผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และส่วนใหญ่ใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงิน การมีวงเงิน O/D ทำให้สามารถเบิกเงินได้มากกว่าจำนวนเงินที่ฝากไว้ในบัญชีกระแสรายวัน แต่ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะจำนวนเงินที่เบิกเกินกว่าจำนวนเงินฝากที่มีอยู่ในบัญชี
รู้ไว้...ให้ฉุกคิด
อัตราดอกเบี้ย O/D จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นสินเชื่อไม่จำกัดวัตถุประสงค์ มีความไม่แน่นอนในการเบิกถอน ทำให้สถาบันการเงินต้องเตรียมสำรองเงินไว้
การคิดดอกเบี้ย จะคิดจากยอดคงค้างของเงินส่วนที่เบิกเกินกว่าเงินฝากทุกสิ้นวัน และสถาบันการเงินจะจัดทำใบแจ้งยอดรายการโดยแจ้งดอกเบี้ยที่เกิดจากการใช้วงเงินด้วย ซึ่งอาจเป็นทุกวันสิ้นเดือน หรือวันอื่นๆ ตามที่สถาบันการเงินกำหนด ซึ่งหากเราไม่นำเงินมาฝากให้เพียงพอกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ดอกเบี้ยจะถูกทบเข้ากับยอดเงินที่ค้างชำระ หรือที่เรียกว่าดอกเบี้ยทบต้น และสามารถนำมาคิดดอกเบี้ยได้ในเดือนต่อไป
แม้ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อได้มากกว่า 1 ประเภท แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ควรขอสินเชื่อเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจจริงๆ เท่านั้น และควรศึกษารายละเอียดของสัญญาให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะเงื่อนไขการผ่อน การคิดดอกเบี้ย ค่าใช้จ่าย และค่าปรับต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขอื่นด้วย
ถ้าจะต้อง "เป็นหนี้" เราก็ควรที่จะต้องทำหนี้นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเลือกสิ่งที่ดี และเหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ขอกู้มานั้นให้มากที่สุดนะคะ ซึ่งเราควรจะใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย หยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้จนเกินตัว เพราะถ้าไม่อย่างนั้นอาจทำให้อนาคตของเราเต็มไปด้วย "หนี้" ก็เป็นได้!!
แท็กที่เกี่ยวข้อง บัตรเครดิต สินเชื่อ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)