x
icon-filter ค้นหาคอนโด
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

ไม่เข้าประชุมเจ้าของร่วมคอนโด จะมีข้อเสียไหม?

icon 26 เม.ย. 65 icon 36,159
ไม่เข้าประชุมเจ้าของร่วมคอนโด จะมีข้อเสียไหม?
ช่วงต้นปีไปจนถึงเดือน 3 หรือ 4 ของแต่ละปี มักจะมีการเรียกประชุมเจ้าของร่วมคอนโดกัน หลายๆ คนสงสัยกันว่า ถ้าเขาเรียกประชุม แล้วเราไม่สนใจเข้าร่วมประชุม (ซึ่งก็มักจะเรียกประชุมวันเสาร์อาทิตย์ที่ทุกคนก็อยากนอนสบายๆ กันซะด้วย) จะมีข้อเสีย หรือเราจะเสียสิทธิอะไรบ้าง? วันนี้เรามีคำตอบครับ

ข้อเสียของการไม่เข้าประชุม

การไม่เข้าประชุมนั้นไม่ผิดกฎหมาย หรือผิดข้อบังคับคอนโดใดๆ แต่การไม่เข้าประชุมจะมีข้อเสียในหลายๆ เรื่อง และการเข้าหรือไม่เข้าประชุมจะสำคัญมากขึ้นเป็นพิเศษถ้าคอนโดของท่านมีปัญหาคณะกรรมการไม่โปร่งใส ทำงานไม่เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำงานไม่ดี หรือถ้าคอนโดของท่านยังขายไม่ออกอยู่หลายห้องมาก เช่น เกินครึ่ง และบริษัทเจ้าของโครงการยังเป็นเจ้าของห้องชุดที่ยังขายไม่ออกนั้นอยู่ เพราะบางทีผลประโยชน์ของเจ้าของร่วมรายย่อย กับบริษัทเจ้าของโครงการอาจขัดกันในที่ประชุมได้ เช่นเรื่องว่าจะขึ้นค่าส่วนกลางหรือไม่ เป็นต้น

โดยสรุปแล้ว ข้อเสียของการไม่เข้าประชุมอาจมีได้ดังนี้

1. เสียค่าใช้จ่ายและงานไม่เดิน - ข้อเสียง่ายๆ ต่อตัวโครงการโดยรวมเลยก็คือ ถ้าลูกบ้านไม่เข้าประชุมกันหลายคนมากจนทำให้ขาดองค์ประชุม และต้องเลื่อนการประชุมบ่อยๆ จะทำให้คณะกรรมการจัดประชุมต้องเสียเวลา และเสียค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม รวมถึงคนที่สละเวลาเข้าประชุมแต่สุดท้ายองค์ประชุมไม่พอ ก็ต้องมานั่งเสียเวลารอโดยใช่เหตุด้วย นอกจากนี้ ถ้าโครงการเรามีเรื่องสำคัญที่ต้องตัดสินใจ หรือได้รับมติ เช่นอนุมัติค่าซ่อมทรัพย์ส่วนกลาง หรือคัดเลือกบริษัทรักษาความปลอดภัยรายใหม่ เรื่องสำคัญเหล่านี้ก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ ซึ่งจะมีผลเสียตามมากับตัวโครงการคอนโดที่เราอยู่เองได้ในท้ายที่สุด
2. อดใช้สิทธิเกี่ยวกับข้อบังคับ เช่นเรื่องจอดรถ - เสียสิทธิในการออกเสียงอนุมัติ และแก้ไขข้อบังคับคอนโดถ้าการประชุมครั้งนั้นๆ มีเรื่องนี้ ซึ่งเรื่องต่างๆ ในข้อบังคับก็มักจะรวมเรื่องสำคัญๆ เช่น การจอดรถ ข้อห้ามเลี้ยงสัตว์ กฎการใช้ฟิตเนส ค่าปรับกรณีไม่ชำระค่าส่วนกลาง ซึ่งถ้าเราไม่เข้าประชุม เวลามีประชุมลงมติเรื่องเหล่านี้ เราก็จะเสียสิทธิในการออกเสียงเรื่องพวกนี้ไป หรือถ้าการประชุมครั้งไหนมีเรื่องแก้ไขข้อบังคับข้อที่เราไม่ชอบ เราก็ควรเข้าประชุมเพื่อใช้สิทธิแก้ไขเรื่องที่เราไม่ชอบนั้น
3. เสียสิทธิถอดถอนผู้จัดการที่ไม่ได้เรื่อง - เสียสิทธิในการเลือก หรือถอดถอนผู้จัดการถ้าการประชุมครั้งนั้นๆ มีเรื่องนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรารู้อยู่แก่ใจว่าผู้จัดการทำหน้าไม่ดี หรือไม่สุจริต (เช่น ทำบัญชีรายรับรายจ่ายที่เป็นเท็จ ไม่ปฏิบัติตามมติคณะกรรมการ หรือตัวอย่างที่เคยเกิดก็เช่น บริษัทเจ้าของโครงการยังเหลือห้องขายไม่ได้เยอะ แล้วใช้สิทธิความเป็นเจ้าของห้อง แต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามาเป็นผู้จัดการ ซึ่งอาจทำให้เกิด Conflict of Interest ผลประโยชน์ขัดกับเจ้าของห้องรายย่อยได้ ปัญหาสำคัญในการบริหารงานก็คืออาจเกิดความไม่เป็นกลางว่าจะบริหารงานเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมรายย่อย หรือบริษัทเจ้าของโครงการ) ดังนั้น เราควรเข้าประชุมเพื่อใช้สิทธิในการแต่งตั้ง หรือเอาผู้จัดการประเภทนี้ออกไป
4. คณะกรรมการ - เสียสิทธิในการเลือก หรือถอดถอนคณะกรรมการถ้ามีวาระการประชุมเรื่องนี้ โดยปกติคณะกรรมการต้องควบคุมการบริหารจัดการคอนโดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่ในบางคอนโดโชคไม่ดี อาจเกิดปัญหาคณะกรรมการนิติบุคคลไม่ตรงไปตรงมา หรือร้ายยิ่งกว่านั้นตั้งแก๊งมาเฟียกันขึ้นมา ไม่ได้ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมโดยส่วนรวม แต่ตัดสินใจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว หรือพวกพ้อง ตัวอย่างที่เคยเกิดก็เช่น กรรมการเป็นเจ้าของห้องชุดร้านค้าด้านล่างของคอนโด แล้วใช้สิทธิความเป็นกรรมการออกเสียงให้นิติบุคคลคอนโดไปเช่าห้องชุดร้านค้านั้นจากกรรมการคนนี้ เรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ และเราควรใช้สิทธิเข้าประชุมเพื่อเลือกคนที่ดีที่สุด หรือจัดการคนที่ไม่ดีออกไป
5. เสียสิทธิพิจารณาเรื่องเงินๆ ทองๆ ของคอนโดเรา - เสียสิทธิในการตรวจสอบ อนุมัติ หรือทักท้วงตัวเลขค่าใช้จ่าย เงินคงเหลือ รายรับ สินทรัพย์ หรือหนี้สินในงบดุล เพราะการอนุมัติงบดุลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสามัญเสมอ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญถ้าเราไม่แน่ใจว่าผู้จัดการ หรือคณะกรรมการมีความโปร่งใสในเรื่องของการบริหารเงิน การใช้จ่ายเงิน หรือการดูแลรักษาเงินของโครงการอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องหรือไม่
6. ผู้สอบบัญชี - เสียสิทธิในการออกเสียงแต่งตั้ง หรือคัดค้านการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีถ้าวาระประชุมมีเรื่องนี้ สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในทางปฏิบัติก็เช่น คณะกรรมการมีเพื่อนเป็นผู้สอบบัญชีแล้วใช้สถานะความเป็นกรรมการแต่งตั้งเพื่อนคนนี้เป็นผู้สอบบัญชีคอนโด แต่เพื่อนดันทำงานไม่ดี หรือไม่ค่อยมีประสบการณ์ ทำให้เอกสารบัญชีคอนโดค่อนข้างบกพร่องไม่เรียบร้อย หากเจอแบบนี้ เราก็ควรเข้าประชุมเพื่อออกเสียงคัดค้านการแต่งตั้งผู้สอบบัญชีที่อาจมีคุณสมบัติไม่ค่อยเหมาะสมนั้น
7. พิจารณาเรื่องอื่นๆ ที่ระบุอยู่ในรายงานประจำปี หรือหัวข้อการประชุมแต่ละครั้ง - เสียสิทธิในการพิจารณา หรืออนุมัติเรื่องอื่นๆ ที่ผู้จัดการหรือคณะกรรมการเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณา หรืออนุมัติ ตัวอย่างที่สำคัญก็เช่น การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายสำหรับปีต่อไป ประเด็นข้อพิพาทที่คอนโดมีปัญหากับบุคคลภายนอกเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลาง หรือลูกบ้านมีปัญหาไม่ลงรอยกันในการเลือกบริษัทเข้ามาติดตั้งจานดาวเทียมในโครงการ เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถ้าเราต้องการใช้สิทธิออกเสียง หรือคัดค้าน เราก็ควรเข้าประชุมในครั้งนั้นๆ ด้วย

มอบฉันทะให้คนอื่นประชุมแทนได้ไหม?

ถ้าเราไม่ว่าง ไม่สะดวกเข้าประชุม เราจะมอบฉันทะให้คนอื่นได้ไหม คำตอบคือทำได้ โดยต้องปฏิบัติตามหลักการ 3 ข้อนี้
  • การมอบฉันทะต้องทำเป็นหนังสือ
  • ผู้รับมอบจะรับมอบฉันทะแทนคนอื่นเกิน 3 ห้องชุดไม่ได้
  • ห้ามแต่งตั้งบุคคลเหล่านี้เพราะกฎหมายห้าม กรรมการ (และคู่สมรส) ผู้จัดการ (และคู่สมรส) และพนักงาน หรือลูกจ้างของนิติบุคคลอาคารชุด ดังนั้น เราจะมอบฉันทะให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง หรือผู้จัดการคอนโดออกเสียงแทนเราไม่ได้
นอกจากนี้ ถ้าบังเอิญตัวเราเจ้าของคอนโดเองค้างค่าส่วนกลางตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เราจะถูกห้ามตามกฎหมายไม่ให้ใช้สิทธิออกเสียงในการประชุม ไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จำไว้เลยว่า ถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือน หมดสิทธิหมดเสียงในคอนโดนั้นทันที

ประชุมกันเมื่อไรบ้าง?

ใน 1 ปีจะต้องจัดประชุมเจ้าของร่วมอย่างน้อยที่สุด 1 ครั้ง โดยหลักการแล้วคล้ายกับการประชุมบริษัทจำกัด คือในแต่ละปีจะต้องจัดอย่างน้อยที่สุด 1 ครั้ง (เรียกว่าประชุมสามัญ) ซึ่งจะต้องประชุมกันภายใน 120 วันนับจากวันสิ้นปีทางบัญชีของนิติฯ (ซึ่งวันสิ้นปีมักเป็นวันที่ 31 ธ.ค.) เพื่อพิจารณาเรื่องสำคัญคือ การพิจารณาอนุมัติงบดุล พิจารณารายงานประจำปี และแต่งตั้งผู้สอบบัญชี นอกจากการประชุมสามัญแล้ว ในระหว่างปีอาจมีการประชุมอื่นนอกเหนือจากประชุมสามัญได้ (เรียกว่าประชุมใหญ่วิสามัญ) ซึ่งการประชุมวิสามัญนี้จะมีเมื่อไร หรือจัดกี่ครั้งก็ได้ในระหว่างปี โดยบุคคลที่จะมีสิทธิเรียกประชุมวิสามัญได้คือ (ก) ผู้จัดการ (ข) คณะกรรมการโดยมติเกินครึ่งของที่ประชุมคณะกรรมการ และ (ค) เจ้าของร่วมรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 20% ของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมด

องค์ประชุมต้องกี่คน?

จะประชุมกันได้ต้องมีองค์ประชุมก่อน ซึ่งองค์ประชุมจะเกิดได้ต้องมีคนมาประชุมรวมกันไม่น้อยกว่า 25% ของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมคอนโดทุกคน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือมาประชุมกันน้อยทำให้การประชุมครั้งแรกนี้จัดไม่ได้เพราะไม่ครบองค์ประชุม และต้องเลื่อนออกไปโดยจะต้องเรียกประชุมใหม่ใน 15 วัน โดยในการประชุมครั้งหลังนี้ จะไม่ต้องมีองค์ประชุมกันอีกแล้ว นั่นหมายความว่า ในการประชุมครั้งหลัง ไม่ว่าจะมีลูกบ้านมาร่วมกี่คน ก็สามารถเริ่มการประชุมได้เสมอ และมีมติในเรื่องทั่วๆ ไปได้ (เว้นแต่เรื่องสำคัญบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดว่าต้องได้มติไม่น้อยกว่า 25% หรือ 50% ของจำนวนคะแนนเสียงของ "เจ้าของร่วมทุกคน" (ไม่ใช่แค่คะแนนเสียงของแค่ "ผู้เข้าร่วมประชุม"))

คะแนนเสียงใครมากน้อยกว่ากัน?

ในการลงคะแนนเสียง เจ้าของร่วมแต่ละคนจะมีคะแนนเสียงเท่ากับอัตราส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนกลาง พูดอีกแบบก็คือ ไม่ได้ดูคะแนนเสียงจากจำนวนยูนิต (เช่น 1 ยูนิต หรือ 2 ยูนิต) แต่ให้ดูขนาดของยูนิต (เช่น 60 ตร.ม.) ดังนั้น คนที่มีจำนวนยูนิตเยอะ หรือมียูนิตที่มีขนาดใหญ่ คะแนนเสียงก็จะมากกว่าคนที่มียูนิตน้อย หรือยูนิตเล็ก อัตราส่วนเหล่านี้จะระบุชัดเจนเป็นรายห้องในข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดของคอนโดนั้นๆ พวกเราสามารถหยิบมาดูได้เลยครับ (ส่วนใหญ่ก็จะกำหนดอัตราเต็มเป็น 10,000 ส่วน แล้วแต่ละห้องก็จะมีสัดส่วน เช่น 10.20 หรือ 25.79 ส่วน เป็นต้น)

มติที่ประชุมต้องเป็นเท่าไร?

โดยหลักแล้ว มติของที่ประชุมจะใช้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 50% ของลูกบ้าน "ที่เข้าประชุม" ยกเว้นแต่เรื่องสำคัญบางเรื่องจะต้องได้รับมติไม่น้อยกว่า 50% ของ "จำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด" (เช่น เรื่องขายทรัพย์ส่วนกลางที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ การแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์ส่วนกลาง การจัดหาผลประโยชน์ในทรัพย์ส่วนกลาง) หรือมติไม่น้อยกว่า 25% ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด (เช่น เรื่องแต่งตั้งหรือถอดถอนผู้จัดการ) ทั้งนี้ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ และต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าจำนวนหนึ่งของคนทุกคนในคอนโด และจะใช้แค่มติของคนไม่กี่คนที่เข้าประชุมไม่ได้
สรุปแล้วเวลาเราอยู่คอนโดแล้วเห็นหนังสือเรียกประชุมส่งมาให้เรา เราควรลองอ่านดูว่ามีวาระอะไรบ้างเพื่อที่เราจะได้ปกป้อง หรือใช้สิทธิของเราในฐานะเจ้าของคอนโดนะครับ คอนโดเราจะอยู่ได้นานไม่นาน ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของเจ้าของทุกคน และการบริหารจัดการของผู้จัดการ และคณะกรรมการนิติฯ ซึ่งการประชุมในแต่ละครั้งก็คือเวทีให้เราไปยกมือใช้สิทธิเพื่อประโยชน์ของคอนโดอันเป็นที่รักของเรานั่นเองแหละครับ

สามารถประชุมใหญ่สามัญผ่านออนไลน์ได้แล้ว!

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในส่วนของการดำเนินการประชุมใหญ่สามัญนี้ จากปีก่อนหน้านี้มีการอนุโลมให้สามารถเลื่อนการจัดประชุมได้ แต่ปัจจุบันสามารถจัดส่งหนังสือเชิญประชุมเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถดำเนินการประชุมผ่านทางอิเลกทรอนิกส์ได้ หรือก็คือ การประชุมใหญ่สามัญผ่านทางออนไลน์ นั่นเองค่ะ โดยทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการอนุมัติให้มีการประชุมใหญ่สามัญผ่านทางออนไลน์ได้แล้ว แต่ก็มีเงื่อนไขอยู่หลายข้อ ดังประการต่อไปนี้
1. มีการแสดง และยืนยันตัวตนของผู้ร่วมประชุมผ่านทางออนไลน์
2. สามารถสื่อสาร โต้ตอบกันได้ทั้งภาพ และเสียง
3. สามารถเข้าถึงเอกสารที่ใช้ประกอบการประชุม
4. สามารถลงคะแนนได้ ทั้งคะแนนที่ต้องเปิดเผย และคะแนนที่เป็นความลับ
5. ต้องมีการจัดเก็บข้อมูล หรือหลักฐานการประชุม อาทิ การบันทึกเสียง หรือ บันทึกทั้งเสียงและภาพ ของผู้เข้าร่วมประชุมตลอดระยะเวลาการประชุม ยกเว้นประชุมลับ
6. ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลการประชุมไว้เป็นหลักฐาน ยกเว้นประชุมลับ
7. สามารถแจ้งเหตุขัดข้องในระหว่างการประชุมได้
ซึ่งการจะจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญแบบออนไลน์ได้นั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการของนิติบุคคลในโครงการนั้นๆ ว่าสามารถดำเนินการทางดิจิทัลได้หรือไม่ รวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งต้องแสดงหลักฐานได้อย่างชัดเจน ทั้งการลงคะแนน การแสดงสัญลักษณ์ต่างๆ สามารถทำได้หรือไม่ ปัจจุบันมีนักพัฒนาแอปฯ ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นสำหรับรองรับการประชุมลูกบ้านออนไลน์ขึ้นมา และยังรองรับในเรื่องของการบริหารการจัดการนิติบุคคลผ่านระบบดิจิทัล ทำให้การบริหารงานด้านนิติบุคคลในอาคารชุดนั้นสะดวกสบายขึ้น ได้แก่

 1. LIVLY

แอปฯ LIVLY เป็นแพลตฟอร์ม "ระบบประชุมออนไลน์ สอบบัญชี คอนโดและหมู่บ้าน" ที่สามารถใช้งานได้ทั้งเจ้าหน้าที่นิติบุคคล, คณะกรรมการ, และลูกบ้าน รองรับระบบการประชุมและลงคะแนนเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-meeting & E-voting) ที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีการออกแบบขึ้นโดยเฉพาะสำหรับการ ประชุมคอนโด และ ประชุมหมู่บ้าน ทำให้การประชุมและลงคะแนนในการประชุมประจำปีของลูกบ้าน สะดวกสบายขึ้น และง่ายเพียงปลายนิ้ว รู้ผลเร็ว รองรับตั้งแต่การเชิญประชุม ออกรายงานการประชุม ครบจบในแอปเดียว
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่นี่

2. Silverman

แอปพลิเคชั่น บริหารงานนิติบุคคล ที่รองรับสถานการณ์ช่วง Covid-19 ได้เป็นอย่างดี สำหรับ หมู่บ้าน คอนโด อาคารสำนักงาน ที่ครอบคลุมตั้งแต่การจัดประชุม, ลงคะแนนเสียงออนไลน์ ได้ถูกต้องตามกฏหมาย รวมไปถึงงานบริหารต่างๆ ของนิติบุคคล อาทิ การทำบัญชี ปิดงบ ระบบจัดการพัสดุ งานซ่อม แจ้งข่าวสาร ส่งบิล รับชำระ ลูกบ้านติดต่อนิติบุคคล เป็นต้น
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่นี่

จะเห็นว่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่สะดวกเข้าร่วมประชุม บวกกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนหันมาพึ่งพาระบบดิจิทัลมากขึ้น ทำให้การประชุมใหญ่สามัญอาคารชุด ก็เป็นเรื่องที่เราจะหลบเลี่ยงได้ยากขึ้นไปด้วย ซึ่งการประชุมนี้ก็มีข้อดีมากมาย และการพลาดการประชุม ก็ทำให้เราพลาดโอกาสไปมากมายด้วยเช่นกันค่ะ

แท็กที่เกี่ยวข้อง ประชุมคอนโด เจ้าของร่วมคอนโด นิติบุคคลคอนโด
Condo Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Condo Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)