7 วิธีปรับโครงสร้างหนี้ แบบไหนใช่ทางออกของคุณ

icon 7 ส.ค. 66 icon 20,230
7 วิธีปรับโครงสร้างหนี้ แบบไหนใช่ทางออกของคุณ
หากคุณเป็นอีกหนึ่งคนที่ติดกับดักวงจรหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้บ้าน หนี้รถ แล้วไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรดี วันนี้! เราจะมาแนะนำ 7 วิธีปรับโครงสร้างหนี้ ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ให้เหมาะสม และสามารถจัดการหนี้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งใน 7 วิธีนี้จะเหมาะกับหนี้แบบไหนบ้าง มาดูกัน
การปรับโครงสร้างหนี้ทั้ง 7 แบบนี้จะเหมาะกับสถานการณ์ทางการเงินที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ หากต้องการปรับโครงสร้างหนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ จำนวนเงิน และระยะเวลาที่คุณจะสามารถจ่ายหนี้ต่อไปไหว ประกอบกันด้วยนะคะ 

1. การเปลี่ยนประเภทหนี้ จากหนี้สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง เป็นสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำลง ตัวอย่างเช่น "หนี้บัตรเครดิต" ที่หากชำระเพียงขั้นต่ำ หรือชำระไม่ตรงตามกำหนดเวลา หนี้ก็จะพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ควรเปลี่ยนมาขอสินเชื่อแบบมีกำหนดระยะเวลา ที่มีกำหนดระยะเวลาจ่ายคืนที่ชัดเจน และอัตราดอกเบี้ยต่ำลงแทน เพื่อที่จะทำให้สามารถบริการจัดการหนี้ได้ง่ายขึ้น แต่ต้องมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายค่างวดคืนตามที่กำหนดได้ ซึ่งบางกรณีอาจทำให้ต้องจ่ายหนี้แต่ละงวดมากขึ้น หรือน้อยลงกว่ายอดขั้นต่ำที่เคยจ่าย ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ที่ค้างจ่าย และระยะเวลาของสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติใหม่ด้วยนะคะ

2. การรีไฟแนนซ์ (refinance) เป็นการเปลี่ยนเจ้าหนี้ คือ การปิดยอดหนี้จากเจ้าหนี้รายเดิมแล้วย้ายไปขอกู้กับเจ้าหนี้รายใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ถูกกว่า เงื่อนไขดีกว่า ส่วนใหญ่มักจะรีไฟแนนซ์กับหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด เป็นต้น และการรีไฟแนนซ์จะมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนเจ้าหนี้ด้วย เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่าหลักประกัน ค่าทำประกันใหม่ ค่าปรับให้แก่เจ้าหนี้รายเดิมที่คุณจ่ายคืนหนี้ทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญา ซึ่งต้องคำนวณให้ดีว่าคุ้มกับอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ลดลงหรือไม่

3. การขอลดอัตราดอกเบี้ย เป็นการขอลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับหนี้เดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดภาระหนี้ที่จะต้องจ่ายเพียงบางส่วน วิธีนี้เหมาะสำหรับลูกหนี้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาปรับตัว ช่วงรายได้ลดลงกะทันหัน เป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น แต่หากลูกหนี้ที่ประสบปัญหา เช่น กิจการร้านค้าปิดตัวลง หรือรายได้ลดลงเป็นระยะเวลานานๆ อาจต้องหาทางออกอื่นแทนวิธีนี้นะคะ 

4. การพักชำระเงินต้น หมายถึง ไม่ต้องจ่ายเงินต้นแต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่สถาบันการเงินมักให้พักชำระเงินต้นประมาณ 3 - 6 เดือน วิธีนี้จึงเหมาะกับคนที่รายรับลดลงในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และจะสามารถกลับมาชำระหนี้ตามเดิมได้ แต่วิธีนี้ก็มีข้อควรระวัง คือ การพักชำระเงินต้นอาจทำให้ภาระหนี้ช่วงหลังจากพักชำระเพิ่มขึ้น หรืออาจต้องขยายเวลาการชำระหนี้ เนื่องจากต้องนำเงินต้นที่พักชำระไปจ่ายในช่วงหลังการพักชำระเงินต้น และอาจจะมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากยอดเงินต้นไม่ได้ลดลงตามกำหนดเวลาเดิม ดังนั้น ลูกหนี้ควรจะต้องตกลงกับสถาบันการเงินให้ดีว่า หลังพักชำระเงินต้นแล้วจะต้องจ่ายคืนแบบไหน ที่สำคัญคือจะจ่ายไหวหรือไม่ 

5. การขยายเวลาชำระหนี้ วิธีนี้เป็นการเพิ่มระยะเวลาในการจ่ายหนี้ จะทำให้เป็นหนี้นานขึ้น แต่ยอดผ่อนต่อเดือนจะลดลง เหมาะสำหรับคนที่มีรายได้ลดลงชั่วคราว แต่หากไม่จำเป็นก็ไม่ควรขยายเวลาในการชำระหนี้นานเกินไป เพราะการผ่อนน้อยๆ แต่ผ่อนนานๆ จะทำให้ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น

6. การปิดจบด้วยเงินก้อน "แฮร์คัท" (hair cut) เป็นการขอส่วนลดจากเจ้าหนี้แล้วจ่ายทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีทันที เหมาะสำหรับคนที่มีหนี้สินเรื้อรัง มีเงินก้อน แต่ไม่พอที่จะปิดหนี้ทั้งหมดในคราวเดียว เช่น มียอดหนี้คงค้าง 120,000 บาท ขอลดเหลือ 100,000 บาท แล้วจ่ายเพื่อปิดบัญชีทันที ทำให้คุณหมดหนี้ไปเลย ซึ่งการปิดหนี้วิธีนี้ สถาบันการเงินมักมีเงื่อนไขให้จ่ายให้ครบภายในเวลาที่กำหนด ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เช่น 1 - 6 งวด หากไม่มั่นใจว่าจะจ่ายได้ทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนด ไม่ควรลงนามในสัญญาเพราะอาจทำให้ต้องขอปรับโครงสร้างอีกครั้ง แต่ให้ขอสถาบันการเงินพิจารณาทางเลือกในการช่วยเหลืออื่นแทน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม >> "แฮร์คัท" ตัดหนี้ก่อนถึงทางตัน)

7. การพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นการหยุดจ่ายทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3 เดือน หรือ 6 เดือน เมื่อครบกำหนดพักชำระแล้ว จะต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยในช่วงที่พักไปด้วย (ดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ตลอดเวลาที่พักชำระ) ซึ่งอาจเป็นการขยายเวลาการชำระหนี้ เฉลี่ยผ่อนชำระตามงวดที่เหลือ หรือชำระคืนเงินต้นที่พักชำระทั้งหมดคราวเดียวในงวดสุดท้ายก็ได้ 

สุดท้ายแล้ว การไม่มีหนี้คือลาภอันประเสริฐ แต่หากเป็นหนี้แล้ว ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย ก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาหนี้นะคะ สำหรับใครที่ยังไม่รู้จะแก้ปัญหาหรือหาทางออกสำหรับหนี้ของตัวเองอย่างไร ใน 7 วิธีปรับโครงสร้างหนี้ที่แนะนำข้างต้น อาจจะมีทางออกสำหรับคุณอยู่ก็ได้ และสิ่งสำคัญที่สุดในการปรับโครงสร้างหนี้ คือ คุณควรจะต้องประเมินสถานการณ์ของตนเอง เช่น รายได้ลดลงมากน้อยแค่ไหน หรือขาดรายได้ และระยะเวลาที่รายได้ลดลงหรือขาดรายได้จะนานแค่ไหน แล้วค่อยพิจารณาความคุ้มค่าของแต่ละทางเลือก บางทางเลือกอาจดูคุ้มค่า เช่น โดยรวมแล้วเสียดอกเบี้ยน้อยกว่า แต่ค่างวดในแต่ละเดือนอาจทำให้เหลือเงินไม่พอใช้จนต้องกู้เงินมาใช้จ่ายอีก ก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจด้วยนะคะ
 
ข้อมูลอ้างอิง : ธนาคารแห่งประเทศไทย

สอบถามข้อมูลรู้เรื่องสินเชื่อ หรือเรื่องการเงินอื่นๆ เพิ่มเติม ทักมาพูดคุยกับ GURU ได้ที่นี่!! https://page.line.me/uht3147t 
แท็กที่เกี่ยวข้อง บทความสินเชื่อ 2566 ปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ รีไฟแนนซ์ แฮร์คัท บริหารหนี้ หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสด หนี้บ้าน หนี้รถ
Money Guru
เขียนโดย ชนานาถ จินตกสิกรรม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)