ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที

กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

สินเชื่อแบบไหนดี แบบไหนเหมาะ...ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเลือกกู้!!

icon 23 มิ.ย. 60 icon 20,351
สินเชื่อแบบไหนดี แบบไหนเหมาะ...ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเลือกกู้!!

สินเชื่อแบบไหนดี แบบไหนเหมาะ...ทำความเข้าใจให้ดีก่อนเลือกกู้!!

ปัจจุบันหลายคนหันมา "กู้เงิน" หรือ "เป็นหนี้" กับสถาบันการเงินกันมากขึ้น เพราะได้ดอกเบี้ยที่ถูกกว่า มีความเป็นธรรม และไม่ต้องหวาดกลัวกับการทวงหนี้แบบโหดๆ สิ่งสำคัญในการตัดสินใจขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน นอกจากความสามารถในการชำระหนี้แล้วก็คือ การขอสินเชื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์และความต้องการของการใช้เงินของเรา เพราะสินเชื่อแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน จึงถูกออกแบบมาให้มีอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระที่เหมาะสมกับสินเชื่อประเภทนั้นๆ
การทำความเข้าใจรายละเอียดของสินเชื่อแต่ละประเภท จะช่วยให้เรามีข้อมูลในการตัดสินใจ "เป็นหนี้" ได้อย่างเหมาะสม และรอบคอบยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ มีบริการผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลายรูปแบบเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ และความต้องการของการใช้เงินของลูกค้า วันนี้ CheckRaka.com จะชวนเพื่อนๆ มาดูกันว่ามีรูปแบบอะไรกันบ้าง...

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย


บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 สำหรับทุกคน แต่การจะซื้อบ้านด้วยเงินสดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีราคาค่อนข้างสูง บางคนต้องเก็บเงินทั้งชีวิตเพื่อให้ได้มีบ้านสักหลัง ซึ่งสถาบันการเงินเข้าใจถึงข้อจำกัดนี้จึงได้ออกแบบให้การผ่อนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวนานกว่าสินเชื่อประเภทอื่น แต่จะนานแค่ไหน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับอายุของผู้ขอสินเชื่อ โดยสูงสุดมักไม่เกิน 30 ปี
สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะคิดอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันไป แต่มักใช้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแบบลอยตัว (Floating Rate) เช่น MLR (Minimum Loan Rate) หรือ MRR (Minimum Retail Rate) โดยจะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่มากหรือน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงนี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ นโยบายสินเชื่อและต้นทุนของสถาบันการเงินนั้น นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ผู้ขอสินเชื่ออาจต้องเป็นผู้รับภาระ เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าสำรวจ และประเมินราคาหลักประกัน
คิดก่อนซื้อบ้าน
การตัดสินใจซื้อบ้านนับเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต จึงจำเป็นที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนตัดสินใจซื้อบ้านมีมากมาย เช่น ทำเลที่ตั้ง จำนวนสมาชิกในบ้าน ความสะดวกในการเดินทาง ราคา และความน่าเชื่อถือของโครงการ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการซื้อบ้านด้วยการขอสินเชื่อ คือ ความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ของเรา เพราะการซื้อบ้านที่ถูกใจแต่เกินกำลังอาจนำมาซึ่งปัญหา สุดท้ายอาจไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่บ้านในฝัน โดยความสามารถในการชำระหนี้ของเราพิจารณาได้จาก
  • เงินคงเหลือในแต่ละเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายจำเป็นและหนี้สินอื่นๆ
  • เงินออมที่มีอยู่เพื่อนำมาจ่ายเป็นเงินดาวน์บ้านก่อนเริ่มผ่อน
  • วงเงินที่จะได้รับ และอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย
  • จำนวนงวด และจำนวนเงินที่ผ่อนในแต่ละงวด 

เช่าซื้อรถยนต์


แม้ปัจจุบันจะมีระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่รถยนต์ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของใครหลายๆ คน เพราะไม่เพียงพาเราไปที่ต่างๆ ที่ต้องการ แต่สำหรับบางคนยังเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพได้ด้วย
รถยนต์เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่มีราคาไม่น้อย สถาบันการเงินจึงมีบริการเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีทั้งสำหรับรถใหม่ และรถใช้แล้วให้เลือกใช้บริการ
  • รถใหม่ สถาบันการเงินมักให้วงเงินประมาณ 75 - 80% ของราคารถยนต์อีก 20 - 25% ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์
  • รถใช้แล้ว วงเงินจะขึ้นอยู่กับสภาพรถ ระยะทาง อายุการใช้งาน และภาวะเศรษฐกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยของรถใช้แล้วจะสูงกว่า เพราะเมื่อเทียบกับรถใหม่แล้ว สถาบันการเงินที่ให้เช่าซื้อเพื่อซื้อรถใช้แล้ว มีความเสี่ยงสูงกว่าหากต้องนำรถใช้แล้วมาขายทอดตลาด
ในการเช่าซื้อรถยนต์ ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินเป็นงวดๆ โดยสามารถนำรถมาใช้งานได้ก่อนแม้ยังจ่ายเงินไม่ครบ แต่กรรมสิทธิ์ในรถจะยังไม่เป็นของผู้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระเงินครบตามสัญญา ส่วนการคิดดอกเบี้ยส่วนใหญ่จะคิดแบบเงินต้นคงที่ (Flat Rate) ซึ่งคิดจากเงินต้นทั้งจำนวนและระยะเวลาการผ่อนชำระทั้งหมด
รู้ไว้...ให้ฉุกคิด
  • เมื่อตัดสินใจซื้อ "รถ" แล้ว ต้องทำใจด้วยว่า ราคาย่อม "ลด" ไปตามความเสื่อมที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน
  • อย่าติดกับดักจ่ายน้อยๆ (แต่จ่ายนานๆ) เพราะการเพิ่มเงินผ่อนต่อเดือนอีกเล็กน้อย โดยไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและการออมเงินเผื่อเหตุฉุกเฉิน จะช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ยและปลดหนี้ได้เร็วขึ้น
  • นอกจากต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ต้องไม่ลืมนึกถึงภาระค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการใช้รถ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าซ่อมบำรุง ค่า พ.ร.บ. ค่าต่อทะเบียน ค่าเบี้ยประกัน ค่าที่จอดรถ ซึ่งค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางรายการจะสูงขึ้นตามราคาของรถที่ซื้อด้วยเช่นกัน
รู้...ก่อนทำสัญญาเช่าซื้อรถ
ก่อนที่จะตัดสินใจลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อรถ เราควรทราบถึงสาระสำคัญบางประการของประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2555 ดังนี้
  • สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ ต้องระบุราละเอียดต่างๆ ตามที่กำหนด เช่น ราคารถ อัตราดอกเบี้ยที่เช่าซื้อ จำนวนเงินค่าเช่าซื้อทั้งสิ้น จำนวนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนชำระในแต่ละงวด วันที่ชำระเงินในแต่ละงวด
  • เมื่อผู้เช่าซื้อจ่ายเงินครบตามสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถจะตกเป็นของผู้เช่าซื้อทันที ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนรถให้เป็นชื่อของผู้เช่าซื้อภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเอกสารประกอบการจดทะเบียนครบถ้วน
  • ถ้าผู้เช่าซื้อต้องการจ่ายค่าเช่าซื้อทั้งหมดเพื่อปิดบัญชีก่อนกำหนด ผู้ให้เช่าซื้อต้องให้ส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดจ่าย (คำนวณตามมาตรฐานการบัญชีว่าด้วยเรื่องสัญญาเช่า)
  • ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการติดตามทวงถามหนี้ทั้งหมดตามที่ผู้ให้เช่าซื้อได้จ่ายไปตามจริง
  • สัญญาเช่าซื้ออาจถูกยกเลิก (และอาจนำไปสู่การถูกยึดรถได้ในที่สุด) หากผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้ 3 งวดติดต่อกัน และผู้ให้เช่าซื้อได้มีจดหมายลงทะเบียนตอบรับแจ้งผู้เช่าซื้อให้ชำระหนี้ภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้ง และผู้เช่าซื้อไม่ได้ปฏิบัติตาม 

บัตรเครดิต


บัตรเครดิตมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ทำให้เราซื้อสินค้า และบริการได้โดยที่ยังไม่ต้องจ่ายเงินทันที สามารถถอนเงินสดมาใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน และสะสมคะแนนเพื่อแลกของรางวัล แต่ผู้ถือบัตรก็ต้องรู้จักใช้อย่างมีวินัย และเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการก่อหนี้โดยไม่จำเป็นได้
การสมัครบัตรเครดิต ผู้สมัครบัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรหลักจะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ออกบัตรจะให้วงเงินได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ หรือมีทรัพย์สินอื่น เช่น เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์หรือการลงทุนในกองทุนรวม ตามจำนวนที่แบงก์ชาติกำหนด ซึ่งวงเงินที่ได้รับอาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ประเภทของทรัพย์สิน
อย่างไรก็ตาม ก่อนตัดสินใจทำบัตรเครดิตควรอ่านรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ในการทำบัตรเครดิตของผู้ออกบัตรหลายแห่ง เพื่อนำมาเปรียบเทียบ เช่น
  • ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปี และเงื่อนไขการขอยกเว้นค่าธรรมเนียม
  • ระยะเวลาชำระคืนโดยปลอดดอกเบี้ย ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษเฉพาะผู้ที่จ่ายเงินคืนเต็มจำนวนเท่านั้น (กรณีชำระคืนยอดซื้อสินค้าและบริการเพียงบางส่วนหรือเบิกถอนเงินสดมาใช้จะไม่มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย)
  • วันที่เริ่มคิดดอกเบี้ย ในการเบิกถอนเงินสดผู้ออกบัตรจะเริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ถอนเงิน ขณะที่การซื้อสินค้าและบริการ หากชำระไม่เต็มจำนวนผู้ถือบัตรก็ต้องเสียดอกเบี้ย ซึ่งผู้ออกบัตรแต่ละแห่งอาจคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันไป ได้แก่ เริ่มคิดจากวันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า วันสรุปยอดรายการ หรือวันที่ต้องชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ แต่โดยทั่วไปจะเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ผู้ออกบัตรสำรองจ่ายเงินให้แก่ร้านค้า
  • การผ่อนชำระเงินขั้นต่ำ ไม่น้อยกว่า 10% ของยอดคงค้างทั้งสิ้น
  • เงื่อนไขการนำบัตรเครดิตไปใช้ในต่างประเทศ จะมีค่าความเสี่ยงจากการแปลงสกุลเงิน 2 - 2.5% ของยอดใช้จ่ายและเบิกถอนเงินสด (คำนวณรวมในอัตราแลกเปลี่ยนที่แสดงในใบแจ้งหนี้แล้ว) ในกรณีที่มีการคืนสินค้าแม้จะคืนภายในวันที่ซื้อ ผู้ถือบัตรอาจต้องรับผลขาดทุนจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้คำนวณค่าสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาระหว่างการซื้อและคืนสินค้า ซึ่งเราอาจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากธนาคารหรือบริษัทผู้ออกบัตร
  • ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม และค่าบริการอื่น รวมกันไม่เกิน 20% ต่อปี ในกรณีถอนเงินสดจะมีค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินสดไม่เกิน 3% ของจำนวนเงินที่เบิกถอน และหากผิดนัดชำระหนี้ก็อาจมีค่าติดตามทวงถามหนี้ด้วย
  • สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ติดมากับบัตร เช่น การสะสมคะแนนแลกของรางวัล ส่วนลดร้านอาหาร ที่จอดรถพิเศษในห้างสรรพสินค้า
  • รายละเอียดอื่นๆ เช่น จุดบริการรับชำระเงินและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องการสมัครบัตรเสริมและภาระหน้าที่ของผู้ถือบัตรหลักที่มีต่อบัตรเสริม การทำบัตรใหม่หากบัตรหาย การขอยกเลิกบัตร
หลักการง่ายๆ ที่จะช่วยให้หลุดพ้นจากหนี้บัตรเครดิต
  1. ลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
  2. จ่ายหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะจ่ายได้
  3. จ่ายให้ตรงกำหนดชำระเงิน
  4. อย่าเบิกถอนเงินสดจากบัตรใบอื่นที่มีมาโปะวนกันไปเรื่อยๆ แต่ควรหาจากแหล่งอื่นที่มีดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายน้อยกว่ามาชำระหนี้บัตรเครดิต หรือการตัดใจขายทรัพย์สินหรือนำเงินออมมาปลดหนี้ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
  5. เจรจาหารือกับผู้ออกบัตรแต่เนิ่นๆ เพื่อวางแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 

สินเชื่อส่วนบุคคล


เป็นสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้แก่บุคคลธรรมดาเพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการเพื่อการบริโภค (ไม่รวมรถยนต์และรถจักรยานยนต์) โดยไม่ต้องมีหลักประกัน และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแบงก์ชาติ
สินเชื่อประเภทนี้มีหลายรูปแบบ เช่น ทำสัญญา และรับเงินไปทั้งก้อน ทำสัญญาเพื่อรับวงเงินหมุนเวียนแล้วใช้บัตรกดเงินสดทยอยกดเงินออกมาเท่าที่ต้องการจะใช้ในแต่ละครั้ง หรือทำสัญญาเช่าซื้อสินค้า โดยผู้ให้สินเชื่อสามารถอนุมัติวงเงินให้ผู้ขอสินเชื่อแต่ละรายได้ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน หรือของกระแสเงินสดหมุนเวียนในบัญชีเงินฝากเฉลี่ยย้อนหลังไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งผู้ให้สินเชื่อจะเป็นผู้กำหนดเองว่ารายได้หรือกระแสเงินสดเฉลี่ยเท่าใดถึงจะรับพิจารณาให้สินเชื่อ
สำหรับอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 28% ต่อปี โดยคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก อีกทั้งผู้ให้สินเชื่ออาจเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นตามที่จ่ายจริงและสมควรแก่เหตุได้ เช่น ค่าติดตามทวงหนี้ ค่าอากรแสตมป์

สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ


เป็นสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการลงทุนหรือขยายกิจการ อาทิ สร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจมีหลายประเภท เช่น สินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน สินเชื่อเพื่อการนำเข้า-ส่งออก มาลองทำความรู้จักกับสินเชื่อ 2 รูปแบบ คือ สินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน กับสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
สินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน (Term Loan)
ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อระยะยาวที่กำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินต้นที่แน่นอน ผู้ประกอบการที่ต้องการขอสินเชื่อประเภทนี้จะต้องยื่นแผนธุรกิจที่บอกถึง
  • วัตถุประสงค์ที่จะนำเงินไปใช้
  • แหล่งเงินที่จะมาใช้ชำระหนี้
  • หลักประกัน เช่น ที่ดิน โรงงาน หรือผู้ค้ำประกัน
อย่างไรก็ตาม วงเงินสินเชื่อที่จะได้ขึ้นอยู่กับความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ ความน่าเชื่อถือ และความสามารถในการชำระหนี้คืนของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ
สำหรับอัตราดอกเบี้ย สถาบันการเงินมักใช้ MLR เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ซึ่งอัตราที่เรียกเก็บจากผู้ขอสินเชื่ออาจมากกว่าหรือน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงก็ได้ ขึ้นกับต้นทุนเงินของผู้ให้กู้ ความเสี่ยงของผู้กู้ และความเสี่ยงของประเภทธุรกิจของผู้กู้
สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Credit)
เป็นสินเชื่อระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจ เช่น นำมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ซึ่งส่วนใหญ่มักยื่นขอวงเงินไปพร้อมกับการยื่นขอสินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจน แล้วค่อยเบิกเงินเมื่อต้องการใช้
ผู้ให้สินเชื่อมักกำหนดเงื่อนไขการชำระสินเชื่อประเภทนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่เข้ามา เช่น เมื่อได้รับเงินจากการขายสินค้าและบริการให้นำมาชำระคืนก่อน แล้วค่อยเบิกไปใช้ใหม่เมื่อต้องการ หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องยื่นขออนุมัติวงเงินใหม่ ยกเว้นมีความจำเป็นทางธุรกิจอยากขอวงเงินเพิ่ม หรือผู้ให้สินเชื่อต้องการลดวงเงินเนื่องจากเห็นว่าลูกหนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ปัจจุบันสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย คือ วงเงินเบิกเกินบัญชี (Overdraft หรือ O/D) ซึ่งทำผ่านบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และส่วนใหญ่ใช้เช็คในการเบิกจ่ายเงิน การมีวงเงิน O/D ทำให้สามารถเบิกเงินได้มากกว่าจำนวนเงินที่ฝากไว้ในบัญชีกระแสรายวัน แต่ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะจำนวนเงินที่เบิกเกินกว่าจำนวนเงินฝากที่มีอยู่ในบัญชี
รู้ไว้...ให้ฉุกคิด
อัตราดอกเบี้ย O/D จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อแบบมีระยะเวลาที่ชัดเจนเนื่องจากเป็นสินเชื่อไม่จำกัดวัตถุประสงค์ มีความไม่แน่นอนในการเบิกถอน ทำให้สถาบันการเงินต้องเตรียมสำรองเงินไว้
การคิดดอกเบี้ย จะคิดจากยอดคงค้างของเงินส่วนที่เบิกเกินกว่าเงินฝากทุกสิ้นวัน และสถาบันการเงินจะจัดทำใบแจ้งยอดรายการโดยแจ้งดอกเบี้ยที่เกิดจากการใช้วงเงินด้วย ซึ่งอาจเป็นทุกวันสิ้นเดือน หรือวันอื่นๆ ตามที่สถาบันการเงินกำหนด ซึ่งหากเราไม่นำเงินมาฝากให้เพียงพอกับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ดอกเบี้ยจะถูกทบเข้ากับยอดเงินที่ค้างชำระ หรือที่เรียกว่าดอกเบี้ยทบต้น และสามารถนำมาคิดดอกเบี้ยได้ในเดือนต่อไป
แม้ผู้ประกอบการสามารถขอสินเชื่อได้มากกว่า 1 ประเภท แต่ก็ต้องไม่ลืมด้วยว่า ควรขอสินเชื่อเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจจริงๆ เท่านั้น และควรศึกษารายละเอียดของสัญญาให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะเงื่อนไขการผ่อน การคิดดอกเบี้ย ค่าใช้จ่าย และค่าปรับต่างๆ รวมถึงเงื่อนไขอื่นด้วย
ถ้าจะต้อง "เป็นหนี้" เราก็ควรที่จะต้องทำหนี้นั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการเลือกสิ่งที่ดี และเหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ขอกู้มานั้นให้มากที่สุดนะคะ ซึ่งเราควรจะใช้จ่ายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ไม่ควรฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย หยิบยืมเงินในอนาคตมาใช้จนเกินตัว เพราะถ้าไม่อย่างนั้นอาจทำให้อนาคตของเราเต็มไปด้วย "หนี้" ก็เป็นได้!!
แท็กที่เกี่ยวข้อง บัตรเครดิต สินเชื่อ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่

แนะนำ Big bike ล่าสุด

ดูทั้งหมด
Suzuki | Burgman
ซูซูกิ Suzuki Burgman 400 ABS ปี 2024
Honda | Forza
ฮอนด้า Honda Forza 350 Special Edition H2C by Honda ปี 2025
Kawasaki | Ninja
คาวาซากิ Kawasaki Ninja ZX-6R ปี 2025
Yamaha | XMAX
ยามาฮ่า Yamaha XMAX Connected ปี 2025
Triumph | Tiger
ไทรอัมพ์ Triumph Tiger Sport 660 ปี 2025
Harley-Davidson | Pan America 1250
ฮาร์ลีย์-เดวิดสัน Harley-Davidson Pan America 1250 ST ปี 2025
Ducati | Panigale
ดูคาติ Ducati Panigale V2 ปี 2025
Honda | ADV
ฮอนด้า Honda ADV 350 (Standard) ปี 2025



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)