การกรอกภาษีปี 2559...แตกต่างจากเดิมอย่างไร? มาดูกัน!!

icon 8 ก.พ. 60 icon 6,589
การกรอกภาษีปี 2559...แตกต่างจากเดิมอย่างไร? มาดูกัน!!

การกรอกภาษีปี 2559...แตกต่างจากเดิมอย่างไร? มาดูกัน!!

ในช่วง 1 - 2 เดือนนี้ คงเป็นช่วงที่หลายท่านยื่นแบบ ภ.ง.ด. เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งปีนี้สามารถยื่นแบบฯ ทางอินเทอร์เน็ตได้ถึงวันที่ 10 เม.ย. 2560 สำหรับการยื่นแบบฯ ในปีนี้มีหลายจุดที่แตกต่างไปจากเดิมที่เราต้องระมัดระวังในการกรอก
จุดแรก คือ ช่อง "เงินได้พึงประเมินที่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษี โดยไม่ต้องนำมาคำนวณภาษีกับรายได้อื่น (เพื่อนำไปเป็นฐานในการคำนวณซื้อหน่วยลงทุนใน RMF หรือ LTF)" ซึ่งเป็นช่องใหม่ที่มีในปีนี้เป็นปีแรก โดยเงินได้ที่เราสามารถนำมากรอกในช่องนี้คือ ดอกเบี้ยเงินปันผลจากหุ้นสามัญ เงินปันผลจากกองทุนรวมที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว โดยเป็น Final Tax ซึ่งเราสามารถเลือกได้ว่า จะนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ในแบบ ภ.ง.ด. หรือไม่ก็ได้ สำหรับคนที่มีฐานภาษีตั้งแต่ 20% รายได้ในส่วนนี้ควรให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไปเลย เพราะจะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าการนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้
อย่างไรก็ตาม การนำรายได้กลุ่มนี้มากรอกในช่องใหม่ ไม่ว่าจะเสียภาษีฐานไหนก็สามารถนำมากรอกได้โดยไม่ทำให้เราต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่จะสามารถนำรายได้ในส่วนนี้มานับรวมเป็นฐานรายได้เพื่อลงทุนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพิ่มเติมได้
ยกตัวอย่างเช่น เดิมเรามีรายได้จากเงินเดือนและโบนัสรวม 2,000,000 บาท ทำให้ลงทุนในกองทุน LTF ได้สูงสุด 300,000 บาท แต่ถ้ามีรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลเพิ่มเข้ามาอีก 100,000 บาท จะส่งผลให้ลงทุนในกองทุน LTF สูงสุดเป็น 315,000 บาท หรือ 15% ของ 2,100,000 บาท ดังนั้น หากท่านไหนที่ปี 2559 ลงทุนกองทุน LTF หรือ RMF เกิน 15% ของรายได้ ลองนำรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลเข้ามารวมในช่องใหม่ ซึ่งอาจช่วยให้ไม่ลงทุนกองทุน LTF/RMF เกินสิทธิ นอกจากนี้ สำหรับในปี 2560 และปีต่อๆ ไปก็สามารถนำรายได้จากดอกเบี้ย และเงินปันผลที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว มาเป็นฐานรายได้เพิ่มเติมในการลงทุนกองทุน LTF/RMF ได้
จุดที่สอง คือ การใช้สิทธิบ้านหลังแรก สำหรับคนที่ซื้อบ้านหลังแรกในปี 2559 ราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท สามารถนำเงินที่จ่ายไป 20% ของราคาบ้านมาลดหย่อนภาษีได้เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นมาตรการที่มีมาตั้งแต่ปี 2558 การใช้สิทธิลดหย่อนในส่วนนี้อาจเกิดความสับสนในการกรอก เพราะในปีภาษี 2559 ยังคงสามารถใข้สิทธิลดภาษีจากมาตรการบ้านหลังแรกซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2554 - 2555 ได้ โดยข้อแตกต่างของการใช้สิทธิบ้านหลังแรกของทั้ง 2 ช่วงเวลา คือ มาตรการบ้านหลังแรกปีภาษี 2554 - 2555 เป็นการลดภาษีโดยตรง ซึ่งต้องกรอกในช่อง "หักภาษีเงินได้ที่ได้รับยกเว้นจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ฯ" ส่วนมาตรการบ้านหลังแรกปีภาษี 2558 - 2559 เป็นการใช้สิทธิลดหย่อนต้องกรอกในช่อง "เงินได้ที่จ่ายเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์"
จุดสุดท้าย ที่ควรระวังในการยื่นภาษีปี 2559 คือ การใช้สิทธิลดหย่อนเฉพาะกิจที่มีเฉพาะในปี 2559 ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายกินเที่ยวช่วงสงกรานต์ ค่าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ค่าซื้อสินค้า OTOP และค่าซื้อสินค้าและบริการในประเทศ โดยมีรายละเอียดการใช้สิทธิลดหย่อน ดังนี้
  • ค่าใช้จ่ายกินเที่ยวช่วงสงกรานต์ การทานอาหารและเครื่องดื่ม พักโรงแรม และซื้อทัวร์เที่ยวในประเทศไทยในช่วงระหว่างวันที่ 9 - 17 เม.ย. 2559 สามารถนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ค่าเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ หากมีการพักโรงแรมหรือซื้อทัวร์เที่ยวภายในประเทศ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ โดยในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 2559 ใช้สิทธิได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 31 ธ.ค. 2559 ใช้สิทธิเพิ่มเติมได้อีก 15,000 บาท
  • ค่าซื้อสินค้า OTOP ในช่วงระหว่างวันที่ 1 - 31 ส.ค. 2559 สามารถนำค่าซื้อสินค้า OTOP ซึ่งได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้วมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ ในช่วงระหว่างวันที่ 14 - 31 ธ.ค. 2559 สามารถนำค่าซื้อสินค้าและบริการมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
การใช้สิทธิลดหย่อนเฉพาะกิจเหล่านี้ควรตรวจสอบช่วงเวลาและสิทธิที่สามารถใช้ได้ให้ถูกต้อง รวมทั้งตรวจสอบใบเสร็จต่างๆ ว่า มีการเก็บเอกสารเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วนและถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ เพราะกรมสรรพากรสามารถขอตรวจสอบใบเสร็จว่า เรามีการใช้จ่ายหรือเดินทางท่องเที่ยวถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้หรือไม่
แท็กที่เกี่ยวข้อง ปี 2560 แตกต่าง เงินได้บุคคลธรรมดา กรอกภาษี เงินได้พึงประเมิน
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)