ไม่ชัวร์อย่าโอน! รวมกฎเหล็กที่ควรเช็กทุกครั้งก่อนช้อปออนไลน์

icon 27 ก.ย. 65 icon 2,353
ไม่ชัวร์อย่าโอน! รวมกฎเหล็กที่ควรเช็กทุกครั้งก่อนช้อปออนไลน์

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะหันไปมองทางไหน ก็มีแต่คนซื้อของออนไลน์กันทั้งนั้นเลยค่ะ (ผู้เขียนเองก็เป็นหนึ่งในนั้นเช่นกัน) เพราะสะดวกสบาย มีสินค้าให้เลือกทุกอย่างโดยที่เราไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อที่หน้าร้าน เรียกได้ว่าซื้อง่ายขายคล่องจริงๆ ค่ะ แต่ทว่าความสะดวกเหล่านี้บางทีก็เปรียบเสมือนดาบสองคม ด้วยความที่เราทำการซื้อขายโดยไม่เห็นหน้ากัน มิจฉาชีพจึงใช้ช่องทางนี้เป็นโอกาสในการ "โกง" สารพัดรูปแบบ ได้ของไม่ตรงปกบ้าง ไม่ยอมส่งของบ้าง หลอกให้โอนเงินบ้าง โกงทุกรูปแบบ โกงทุกวงการ ขอบอกเลยว่าจำนวนปัญหาจากการซื้อของออนไลน์นั้นเพิ่มขึ้นทุกปีเลยค่ะ

ในบทความนี้ผู้เขียนจึงจะพาทุกคนไปดูเรื่องต่างๆ ที่ต้องเช็กก่อนช้อป ที่จะช่วยให้เราตัดสินใจซื้อของออนไลน์ได้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ส่วนจะมีอะไรบ้าง เรามาดูกันค่ะ

เช็กประวัติการซื้อ-ขาย

ทุกครั้งเวลาที่เราจะตัดสินใจซื้อของ ก็มักจะดูจากรีวิวของคนที่เคยซื้อก่อนเป็นอันดับแรก ถือว่าเป็นวิธีที่ถูกต้องแล้วค่ะ การตรวจสอบประวัติซื้อ-ขาย เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเช็กให้แน่ใจก่อนว่าผู้ขายคนนั้นๆ มีการส่งสินค้าให้ลูกค้าจริงๆ หรือไม่ และได้รับคำวิจารณ์จากผู้ซื้อไปในทิศทางใด ถ้าพบร้านค้าที่ไม่เคยแจ้งเลขพัสดุ หรือได้รับการตำหนิจากลูกค้าเป็นจำนวนมาก ก็แนะนำให้ผ่านไปดีกว่าค่ะ

เช็กบัญชีผู้ใช้ของผู้ขาย

หากเป็นร้านที่ลงขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram, Twitter ก็ควรตรวจสอบความน่าเชื่อถือโดยรวมของบัญชีผู้ใช้ของผู้ขายก่อนว่ามีรูปไหม สร้างบัญชีผู้ใช้มานานแค่ไหนแล้ว และบัญชียังมีความเคลื่อนไหวอยู่หรือไม่ เพราะผู้เสียหายส่วนใหญ่ให้ความเห็นที่ตรงกันว่าบัญชีของมิจฉาชีพมักเป็นบัญชีที่เพิ่งสร้างใหม่ ไม่มีรูปที่ถ่ายเอง (และบางรูปอาจจะไปขโมยมาจากที่อื่น) หรือไม่ก็แทบจะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ บนหน้าบัญชีผู้ใช้เลยค่ะ

เช็กสินค้า

หลังจากที่เราสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ขายได้แล้ว คราวนี้เรามาดูที่ตัวสินค้ากันบ้างค่ะ อาจจะเห็นกันมาเยอะแล้วที่คนขายส่งของให้เราจริงๆ แต่ของก็จะมาในสภาพที่ไม่ตรงปกบ้าง เสียหายบ้าง ที่แย่ไปกว่านั้นคือกว่าเราจะรู้ตัว คนขายก็ถือโอกาสชิ่งไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ถ้าไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ก็อย่าลืมขอดูรูปสินค้าจริงจากผู้ขายทุกครั้งนะคะ โดยแนะนำให้ขอรูปสินค้าพร้อมกระดาษที่ระบุลายมือชื่อผู้ขาย เพื่อป้องกันการแอบอ้างรูปของผู้อื่นค่ะ

ส่วนอีกวิธีที่แนะนำสำหรับใช้ตรวจสอบรูปสินค้า คือการใช้ฟังก์ชันจาก search engine ยอดนิยม อย่าง Google Images ค่ะ เพียงแค่อัปโหลดรูปแล้วค้นหา ถ้าเป็นรูปที่ถูกขโมยมาจากแหล่งอื่น ก็จะรู้ได้ทันที

คลิก Search by image แล้วอัปโหลดรูปได้เลย

ผลการค้นหาจะแสดงรูปเดียวกันจากหลายเว็บไซต์

ทั้งนี้ทั้งนั้น วิธีการเช็กแบบนี้จะแพร่หลายในการซื้อ-ขายของมือสอง หรือของที่มีมูลค่าสูงมากกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือ สินค้าแบรนด์เนม ของสะสมหายาก เป็นต้น ดังนั้นหากร้านไหนไม่สามารถใช้วิธีนี้ในการตรวจสอบได้ ให้พิจารณาใช้วิธีอื่นแทนนะคะ

เช็กการบริการ

โดยปกติแล้วผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือมากพอ จะสามารถตอบข้อสงสัย และบอกรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าชิ้นนั้นๆ ได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากให้สังเกตดีๆ เลยค่ะว่าผู้ขายมีคุณสมบัตินี้หรือไม่ ถ้าเจอพ่อค้าหรือแม่ค้าคนไหนที่พยายามจะบ่ายเบี่ยงการตอบคำถาม ก็ไม่ควรทำการซื้อขายด้วยค่ะ

เช็กกับเว็บไซต์/แอปพลิเคชัน

นอกจากการตรวจสอบด้วยตัวเองแล้ว ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ทั้งสะดวกสบาย และรวดเร็ว นั่นก็คือการนำชื่อผู้ขายไปค้นหาในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ตรวจสอบประวัติการโกงโดยเฉพาะ ซึ่งผู้เขียนจะลองค้นหาในเว็บไซต์ยอดนิยมอย่าง blacklistseller.com ให้ดูเป็นตัวอย่างนะคะ

เมื่อเข้าเว็บไซต์ blacklistseller.com ให้คลิกที่ "ตรวจสอบบัญชีผู้ขาย" ก็จะพบกับหน้านี้ค่ะ 
จากนั้นจึงเลือกกรอกข้อมูลอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วกดค้นหาได้เลย
 

หากมีประวัติการโกง หน้าเว็บไซต์จะแสดงข้อมูลขึ้นมาทันที

 

โดนโกงไปแล้ว ทำยังไงดี?

ด้วยความที่มิจฉาชีพมักจะมีกลโกงใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึง และตามไม่ทันอยู่เสมอ ดังนั้นถึงจะเช็กดีแค่ไหนก็ย่อมพลาดกันได้ค่ะ มาดูกันว่าถ้าเรากลายเป็นเหยื่อไปแล้วจะต้องทำอะไรบ้าง

1. รวบรวมหลักฐาน โดยจำเป็นต้องมีหลักฐานดังนี้

  • รูปโปรไฟล์ของผู้ขาย หรือภาพ Screenshot ของหน้าร้านบนเว็บไซต์

  • โพสต์ที่ประกาศขายสินค้า

  • ประวัติการสนทนากับผู้ขาย

  • เลขบัญชีที่เราโอนเงินไป และหลักฐานการโอนเงิน

  • ข้อมูลส่วนตัวของผู้ขาย เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเรา

2. แจ้งความ และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกคำสั่งอายัดบัญชี ที่ สน. ที่ใกล้บ้านที่สุด หรือสามารถแจ้งได้ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ได้เลย (ต้องแจ้งภายใน 3 เดือนเท่านั้นนะคะ)

3. ติดต่อธนาคารเพื่อแจ้งอายัดบัญชีผู้ขาย โดยต้องใช้หลักฐานทั้งหมดที่เรารวบรวมไว้ รวมทั้งใบแจ้งความและคำสั่งอายัดบัญชีด้วย ในขั้นตอนนี้ธนาคารจะแจ้งเจ้าของบัญชีให้คืนเงิน ถ้าหากไม่คืนเงิน ก็จะมีการดำเนินคดีต่อไปค่ะ

4. หากสั่งซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ ก็ควรรายงาน หรือติดต่อเจ้าหน้าที่บริการลูกค้า เพื่อทำการระงับบัญชีผู้ใช้ เพื่อไม่ให้ไปโกงผู้ซื้อคนอื่นต่อ

5. บอกต่อคนอื่นๆ โดยการบันทึกข้อมูลลงเว็บไซต์ตรวจสอบคนโกง เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ซื้อคนอื่นๆ ที่มาสืบค้นภายหลัง


หากผู้อ่านคนไหนรู้ตัวว่าเป็นนักเอฟตัวยง หรือสายเปย์โอนไว แนะนำให้หยุดเช็กสักนิดก่อนซื้อด้วยวิธีเหล่านี้ เพื่อที่จะไม่กลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์นะคะ ขอให้สนุกกับการช้อปค่ะ ?
แท็กที่เกี่ยวข้อง ช้อปปิ้งออนไลน์ ซื้อของออนไลน์ มิจฉาชีพออนไลน์ โดนโกง
Money Guru
เขียนโดย สุทธิดา กาหา Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)