รู้ทันดอกเบี้ยเงินฝาก

icon 16 ก.พ. 58 icon 171,151
รู้ทันดอกเบี้ยเงินฝาก


รู้ทันดอกเบี้ยเงินฝาก

โดยปกติดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับนั้นถือเป็นเงินที่จะต้องเสียภาษี ปกติธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนด (1,10 หรือ 15%) แล้วแต่ประเภทเงินฝากและผู้ฝาก ยกเว้นเงินฝากบางประเภทที่กฎหมายยกเว้นภาษีให้
ดังนั้นในการฝากเงินนอกจากจะดูว่าได้ดอกเบี้ยเท่าไหร่แล้วยังต้องรู้ด้วยว่าดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นเสียภาษีหรือไม่ เพราะถ้าต้องเสียภาษีก็เท่ากับดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจะลดลง
ทั้งนี้สามารถสรุปอัตราดอกเบี้ย การจ่ายดอกเบี้ย ภาระภาษีของเงินฝากแต่ละประเภท โดยจะยกตัวอย่างกรณีผู้ฝากเป็นบุคคลธรรมดา ดังนี้
 ประเภทบัญชี  ดอกเบี้ย การจ่ายดอกเบี้ย ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
(บุคคลธรรมดา)
1. เงินฝากออมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50% - 1.00%  จ่ายดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือจ่ายทุกสิ้นเดือนมิถุนายน และสิ้นเดือนธันวาคม เสียภาษี 15 %
ข้อยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีที่ดอกเบี้ยเงินฝากจากทุกธนาคารรวมกันไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีและกรณีที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากและรางวัลที่ได้รับจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารออมสิน และธ.ก.ส.
2. เงินฝากประจำ อัตราดอกเบี้ยประมาณ 1.75 - 3.5%โดยจะขึ้นอยู่กับรูปแบบบัญชีและระยะเวลาที่เปิด การจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายตามเงื่อนไขของธนาคารมี 2 รูปแบบ คือ
1. จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด
2. จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือน
เสียภาษี 15%
ข้อยกเว้นมี 3 กรณีดังนี้ 
1. ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีขึ้นไปของผู้ฝากที่มีอายุ 55 ปี และมีจำนวนรวมจากบัญชีฝากประจำทุกประเภทแล้วไม่เกิน 30,000 บาท
2. ไม่ต้องเสียภาษีในกรณีดอกเบี้ยเงินฝากพิเศษที่เป็นการฝากสะสมรายเดือนๆ ละเท่าๆ กัน ติดต่อกัน 24 เดือนขึ้นไป
3. ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 15%เหลือ 10% สำหรับเงินฝากประจำ 5 ปีขึ้นไปที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาและที่อยู่อาศัย
3. เงินฝากกระแสรายวัน อัตราดอกเบี้ยที่ได้รับมีตั้งแต่ 0 - 1.50% ในกรณีที่มีการจ่ายดอกเบี้ยจะจ่ายปีละ 2 ครั้ง คือจ่ายทุกสิ้นเดือนมิถุนายน และสิ้นเดือนธันวาคม
เสียภาษี 15%
4. เงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.10 - 1.00 % การจ่ายดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับประเภทบัญชีที่เปิดว่าเป็น บัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์หรือฝากประจำ เสียภาษี 15%
5. ตั๋วแลกเงิน อัตราดอกเบี้ยประมาณ 2.25 - 4.00 %  โดยจะขึ้นกับระยะเวลาและวงเงินที่ซื้อตั๋ว การจ่ายดอกเบี้ย 2 รูปแบบ คือ
1. จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด
2. จ่ายดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด
เสียภาษี 15%
6. สลากออมทรัพย์ อัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.50 - 4.75% โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาถือสลาก จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด เสียภาษี 15% 
7. พันธบัตรรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยประมาณ 2.70 - 7.00 % และขึ้นกับระยะเวลาของพันธบัตร การจ่ายดอกเบี้ยจะมี 2 แบบ คือ
1. จ่ายดอกเบี้ยแบบประจำ
2. การจ่ายดอกเบี้ยเป็นแบบทบต้น
เสียภาษี 15%
คำถามยอดฮิตเกี่ยวกับดอกเบี้ย
ดอกเบี้ยขั้นบันไดเป็นอย่างไร?
ในปัจจุบันธนาคาร ได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากขึ้น มีทั้งแบบที่จ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายงวด จ่ายดอกเบี้ยเป็นรายเดือน และการจ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ทั้งนี้การจ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันได คือการที่ดอกเบี้ยจะมีการเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาของการฝาก และโดยปกติการคิดดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดจะเป็นการคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น และหากเป็นเงินฝากประจำก็ต้องเสียภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ของยอดดอกเบี้ยด้วย ดังนั้นในการฝากผู้ฝากควรพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่จะได้รับก่อนเลือกฝากเงิน โดยการคิดดอกเบี้ยที่แท้จริงของการจ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดสามารถคำนวณได้ ดังนี้
ตัวอย่าง
ธนาคารพาณิชย์ประชาสัมพันธ์การฝากเงินให้กับ นาย ก. ว่า "หากนาย ก. ต้องการฝากเงินที่ได้รับผลตอบแทนมากกว่าเงินฝากประจำที่อัตราร้อยละ 3 ต่อปี ควรฝากแบบขั้นบันได (Step Up) ที่มีระยะเวลาฝากเงิน 11 เดือน ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 4 ต่อปี แต่นาย ก. จะไม่สามารถถอนเงินได้ก่อนกำหนด และธนาคารจะจ่ายดอกเบี้ยเมื่อครบกำหนด"
ทั้งนี้ นาย ก. สนใจที่จะฝากเงินแบบขั้นบันไดนี้ แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับผลตอบแทนมากกว่าการฝากเงินแบบประจำ นาย ก. จึงทดลองคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันไดที่จะได้รับ โดยมีอัตราดอกเบี้ย ดังนี้
เดือนที่ 1 - 3         อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ      ร้อยละ 1
เดือนที่ 4 - 6         อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ      ร้อยละ 2
เดือนที่ 7 - 9         อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ      ร้อยละ 3
เดือนที่ 10 - 11      อัตราดอกเบี้ยเท่ากับ      ร้อยละ 4
สูตรการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันได
ดอกเบี้ย =           เงินต้น X อัตราดอกเบี้ย x จำนวนวันที่ฝาก
                           
            365
  • มูลค่าของเงิน ณ วันที่ 1 มกราคม 2554 เงินต้น 10,000 บาท

  • ดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2554 - วันที่ 31 มีนาคม 2554 (เดือนที่ 1 - 3) = 10,000 x 1% x 90 / 365
    = 24.66 บาท (ระยะเวลาในการคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 - 31 มีนาคม 2554 รวม 90 วัน)

  • ดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2554 - วันที่ 30 มิถุนายน 2554 (เดือนที่ 4 - 6) = 10,000 x 2% x 91 / 365
    = 49.86 บาท (ระยะเวลาในการคำนวณตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 - 30 มิถุนายน 2554 รวม 91 วัน)

  • ดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 - วันที่ 30 กันยายน 2554 (เดือนที่ 7 - 9) = 10,000 x 3% x 92 / 365
    = 75.62 บาท (ระยะเวลาในการคำนวณตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2554 - 30 กันยายน 2554 รวม 92 วัน)

  • ดอกเบี้ยระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2554 - วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 (เดือนที่ 10 - 11) = 10,000 x 4% x 61 / 365
    = 66.85 บาท (ระยะเวลาในการคำนวณตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 - 30 พฤศจิกายน 2554 รวม 61 วัน )
ดอกเบี้ยเงินฝากแบบขั้นบันไดที่นาย ก. จะได้รับจากการฝากเงินในช่วง 11 เดือน (334 วัน) เท่ากับ
24.66 + 49.86 + 75.62 + 66.85 = 216.99 บาท
ซึ่งเมื่อคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ นาย ก. ได้รับจะเท่ากับ
อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง =            จำนวนดอกเบี้ยรวมที่ได้รับ x 100 x 365

               เงินต้น x จำนวนวันรวมทั้งหมดที่ฝาก
   
ดอกเบี้ยที่แท้จริง =                      216.99 x 100 x 365

                         10,000 x 334
=  2.37%
ทั้งนี้ ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2554 ซึ่งครบกำหนดสัญญาฝากเงินแบบขั้นบันได นาย ก. จะได้รับเงินทั้งหมด จำนวน 10,184.44 บาท ซึ่งประกอบด้วย เงินต้น จำนวน 10,000 บาท และดอกเบี้ยหลังหักภาษีร้อยละ 15 จำนวน 184.44 บาท (216.99 x  0.85) เห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของการฝากเงินดอกเบี้ยขั้นบันไดนี้จะเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 2.37 เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ร้อยละ 3
ฝากเงินกับสถาบันการเงินของรัฐจะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินของเอกชนจริงหรือเปล่า?
โดยปกติแล้วการฝากเงินกับสถาบันการเงินของรัฐบาลมักจะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าสถาบันการเงินของเอกชนเพราะหลังการประกาศใช้พรบ.คุ้มครองเงินฝาก สถาบันการเงินของเอกชนต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากในขณะที่สถาบันการเงินของรัฐไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากทำให้เกิดภาวะการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกัน
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีการแข่งขันแย่งเงินฝากจากประชาชนค่อนข้างสูง ธนาคารเอกชนหลายแห่งเริ่มมีการให้ดอกเบี้ยมากกว่าสถาบันการเงินของรัฐเนื่องจากสามารถนำเงินฝากไปทำประโยชน์ได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการนำเงินไปลงทุนโดยการปล่อยกู้ การนำเงินไปลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งผลตอบแทนที่ได้รับก็จะนำมาจัดสรรหมุนเวียนในธนาคารและจ่ายคืนให้กับผู้ฝากในรูปของดอกเบี้ยเงินฝาก
ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่จำเป็นเสมอไปที่สถาบันการเงินของรัฐจะให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าสถาบันการเงินของเอกชน
ฝากเงินกับสถาบันการเงินต่างชาติจะได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดจริงหรือไม่?
เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดเสรีด้านการเงินทำให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจแข่งขันกัน เมื่อคนใช้บริการธนาคารมากขึ้นก็เกิดการเปรียบเทียบกันมากขึ้นในเรื่องของผลตอบแทน ในทางปฏิบัติทุกวันนี้สถาบันการเงินต่างชาติก็อาจให้ผลตอบแทนไม่ด้อยกว่าสถาบันการเงินของไทยมากนัก แต่ธนาคารต่างชาติอาจมีความได้เปรียบและเหมาะสำหรับลูกค้าที่เดินทางต่างประเทศ หรือทำธุรกิจกับต่างประเทศเป็นประจำ เพราะจะได้ประโยชน์จากการที่ธนาคารต่างชาติมีสาขาในหลายประเทศ และอาจมีความได้เปรียบในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น
ฝากเงินกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่จะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าสถาบันการเงินขนาดกลางและเล็กจริงหรือไม่?
โดยทั่วไปฝากเงินกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่มักจะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าฝากเงินกับสถาบันการเงินขนาดเล็ก เนื่องจากคนทั่วไปนิยมฝากเงินกับสถาบันการเงินขนาดใหญ่มากกว่าเพราะสถาบันการเงินขนาดใหญ่จะมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า มีความปลอดภัยมากกว่าการฝากเงินกับสถาบันการเงินขนาดเล็ก นอกจากนี้ยังสะดวกกว่าเพราะมีสาขามากกว่า ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วการฝากเงินกับสถาบันการเงินขนาดเล็กมักจะให้ดอกเบี้ยสูงกว่าสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เพราะต้องใช้ดอกเบี้ยที่สูงเพื่อดึงดูดลูกค้ามาจากสถาบันการเงินขนาดใหญ่
บัญชีออมทรัพย์ที่มีสมุดคู่ฝากกับไม่มีสมุดคู่ฝากต่างกันอย่างไร ดอกเบี้ยสูงกว่าหรือไม่?
เนื่องด้วยการฝากเงินบัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก จะเป็นการประหยัดต้นทุนของสถาบันการเงินอีกทางหนึ่ง ดังนั้นจึงได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินกับบัญชีออมทรัพย์ที่มีสมุดคู่ฝากเล็กน้อย และในส่วนของการใช้บัญชี การฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ที่ไม่มีสมุดคู่ฝาก จะมีความคล่องตัวสูงกว่าเพราะสามารถเบิกถอนได้โดยไม่ต้องใช้สมุดบัญชี แต่ก็มีข้อเสียคือ ผู้ฝากจะไม่สามารถตรวจสอบรายการทำธุรกรรมต่างๆ ระหว่างเดือนได้ เพราะสถาบันการเงินจะส่ง Statement การทำรายการให้ตอนสิ้นเดือน ดังนั้นหากต้องการตรวจสอบรายการระหว่างเดือน ต้องขอ Statement เพิ่มเติมซึ่งอาจทำให้ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมให้ธนาคาร
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่



เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)