ประเมินวงเงินรู้ผลใน 3 นาที

กับ กรุงศรี ออโต้ พร้อมสตาร์ท

เริ่มประเมินวงเงินพร้อมสตาร์ท
ผ่านมือถือ สแกนเลย

ดูวงเงินพร้อมสตาร์ทที่ได้รับ

x
icon-filter ค้นหารถยนต์
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

รีวิว Toyota Fortuner 2015 พรีเมียมเอสยูวี ดีไซน์หรู เปี่ยมด้วยสมรรถนะ

icon 29 ม.ค. 59 icon 57,081
รีวิว Toyota Fortuner 2015 พรีเมียมเอสยูวี ดีไซน์หรู เปี่ยมด้วยสมรรถนะ
การทดสอบสมรรถนะ โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ (All New Fortuner 2015)
ริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เชิญทีมงาน เช็คราคา.คอม เข้าร่วมการขับทดสอบรถยนต์ All New Fortuner ทั้งแบบ ออนโรด และออฟโรด โดยใช้เส้นทาง สุราษฎร์ธานี - ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 20 - 21 สิงหาคม 2558

โตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ พรีเมียมเอสยูวี ดีไซน์หรู เปี่ยมด้วยสมรรถนะ บุกตะลุยอย่างมั่นใจด้วยระบบขับเคลื่อนซิกม่าโฟร์ และโดดเด่นในทุกรายละเอียดทั้งภายในและภายนอก ผสานความแกร่งแบบออฟโรดและความคล่องตัวในการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างลงตัว
เส้นทางการทดสอบ
 
เส้นทางการทดสอบสำหรับคณะสื่อมวลชนกลุ่มแรกรวมผู้เขียน เริ่มต้นจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มุ่งสู่จังหวัดภูเก็ต ด้วยระยะทางกว่า 310 กิโลเมตร เน้นการขับบนถนนระหว่างจังหวัด เพื่อทดสอบสมรรถนะด้านอัตราเร่ง การบังคับ เบรก ตามรูปแบบการใช้งานทั่วไป ส่วนการทดสอบแบบออฟโรดในวันที่สองของการทดสอบ ผู้เขียนและสื่อมวลชนกลุ่มแรกนั่งรถตู้ไปยังโชว์รูมของ โตโยต้า เพิร์ล ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อขับทดสอบในพื้นที่ติดกับโชว์รูมซึ่งมีการจำลองเส้นทางออฟโรดยาวกว่า 700 เมตร โดยแบ่งเป็นสถานี เพื่อเน้นให้เห็นการทำงานของระบบต่างๆ ใน ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่
 
เส้นทางออนโรดสู่จังหวัดภูเก็ต นับว่ามีพื้นผิวที่ดีตลอด จนสามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่

ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ใช้ยางขนาด 265/60 กับล้ออัลลอยขนาด 18 นิ้ว แต่ก็นั่งสบายไปตลอดทาง แตกต่างจากพีพีวีทั่วไป

บางช่วงขบวนทดสอบเจอฝนกระหน่ำ และโปรยปรายจนถึงภูเก็ต แต่ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ สามารถทำความเร็ว
ระดับ 100 กม./ชม. ขึ้นไป พร้อมผ่านทุกโค้ง อาจมีอาการสไลด์นิดๆ เมื่อผ่านบริเวณพื้นผิวลื่น

การขับแบบออฟโรดในพื้นที่จำลองจัดเตรียมไว้ให้ลุยเต็มที่ แต่ฝนที่ตกลงมาก่อนหน้าทำให้พื้นที่เละมากกว่าเดิม
นับเป็นการทดสอบสมรรถนะการใช้งานที่สมบุกสมบันจริงๆ
รูปลักษณ์ภายนอก
 
ภายนอกของฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ดูรวมๆ เป็นเอสยูวีแข็งแกร่ง พร้อมลุยทุกเส้นทาง แต่แฝงความหรูหรา จากกระจังหน้าโครเมียม และไฟหน้าสวยเพรียวสปอร์ตแบบแอลอีดี โปรเจคเตอร์แบบ Bi-Beam และมีไฟแอลอีดี เดย์ไทม์ รันนิ่งไลท์ รวมอยู่ภายในโคม ส่วนตัวถังยกสูงเท่ากันทุกรุ่น สูงพอผ่านอุปสรรคทั่วไปได้สบาย ด้านข้างเด่นด้วยแนวขอบหน้าต่างที่เล่นระดับทางด้านประตูหลัง
 
ส่วนด้านหลัง ผู้เขียนชอบมากกว่าด้านหน้า เพราะออกแบบไฟท้ายได้โฉบเฉี่ยวดูทันสมัย มีการใช้โครเมียมเข้ามาเสริมเติมแต่งรองรับระหว่างไฟซ้าย-ขวา และตรงแนวขอบหน้าต่าง


ด้านกันชนหลังดูออกแบบใหม่ให้ความสะดวกในการขนของเข้า-ออก ด้านข้างขึ้น-ลงง่ายด้วยบันไดข้างแบบแผ่นเต็ม
 
กระจกมองข้างพร้อมไฟเลี้ยว ตรงจุดยึดมีการออกแบบฟินไว้ 3 ระดับ แต่จากการทดสอบผู้เขียนยังคงได้ยินเสียงลมปะทะ

สปอยเลอร์หลังให้ความรู้สึกสปอร์ต พร้อมไฟเบรกแอลอีดี

ส่วนล้ออัลลอย 18 นิ้ว ดีไซน์ 2 ก้านคู่ แบบ 3 ก้านซ้อนต่างขนาด ดูสปอร์ตและทันสมัย ผู้เขียนรู้สึกว่ารถโตโยต้ายุคใหม่มักออกแบบล้ออัลลอยได้สวยเด่นจนแทบไม่ต้องหาล้อแม็กแต่งสวยๆ มาเปลี่ยนภายหลัง
รูปลักษณ์ภายใน

แผงแดชบอร์ด และคอนโซลกลางใช้พื้นฐานจาก ไฮลักซ์ รีโว่ แต่ทำออกมาแล้วแทบไม่มีอะไรเหมือนกันนอกจากพวงมาลัย นับเป็นการออกแบบหน้ากากใหม่หมด แต่ตำแหน่งฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ ยังเหมือนกัน โดยรวมยังคงแนวทางการออกแบบภายในกับแผงแดชบอร์ดทรงตั้ง
  
ภายในหรูหราด้วยโทนสียอดนิยมทั้ง ครีมและน้ำตาล แยกตามรุ่น
รุ่นท็อป 2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรูหรากว่าด้วยเบาะหนังสีครีมชามัวส์ ส่วนรุ่นอื่นๆ เป็นเบาะหนังสีน้ำตาล รูปแบบเบาะยังคงเป็น 2+3+2 ด้านเบาะแถว 3 คงการพับแบบยกเบาะขึ้นเก็บด้านข้าง หลายคนมองว่าถ้าปรับเป็นพับราบลงไปด้านหน้าจะใช้งานได้สะดวกกว่า จุดนี้โตโยต้าบอกว่า การพับแบบเก็บด้านข้างทำให้ออกแบบเบาะได้แข็งแรงกว่า เพราะไม่ต้องลดขนาดพนักพิงให้บางลง จุดนี้นับเป็นความต่างจากเอสยูวียี่ห้ออื่น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความชอบและเคยชินของผู้ใช้มากกว่า
 
เบาะแถวสองนั่งสบายได้ยาวๆ แอร์เพดานให้ความเย็นฉ่ำทั่วถึงแม้เวลากลางวัน

เบาะแถวสามเด็กนั่งได้ 3 คน หรือผู้ใหญ่ 2 คน (รูปร่างสมส่วน) สบายๆ 

แม้ใช้ตำแหน่งเกียร์แบบเดิมเกตไทป์ แต่ทำให้หรูขึ้นด้วยการใช้ลายไม้เสริมด้วยวัสดุผิวเงินแบบด้าน
ส่วนด้ามเบรกมือก็ใช้หนังตัดเย็บโชว์การเดินด้ายแบบรถพรีเมียม
โดยรวมนับว่าหรูหรานั่งสบายพิสูจน์จากการขับทดสอบไม่ต่ำกว่า 300 กม. สำหรับผู้เขียนพอใจกับการออกแบบและเกรดวัสดุภายในห้องโดยสาร ติดนิดเดียวที่ตำแหน่งเกียร์ ยังเป็นเกตไทป์เหมือนเดิมซึ่งน่ารับให้ดูทันสมัยมากกว่านี้ ส่วนเบรกมือก็น่าเป็นแบบไฟฟ้าเพื่อการออกแบบคอนโซลกลางได้ยืดหยุ่นขึ้น และจุดที่น่าปรับอีกส่วนคือ วัสดุบุเพดานน่าเป็นผ้านิ่มจะให้ความหรูหรามากกว่านี้

SPECIFICATION - FAST FACTS (เฉพาะรุ่นที่ร่วมทดสอบ)
 รุ่น 2.4V 2.8V
 แบบเครื่องยนต์   ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว VN เทอร์โบ
อินเตอร์คูลเลอร์
 ดีเซล 4 สูบแถวเรียง 16 วาล์ว VN เทอร์โบ
อินเตอร์คูลเลอร์ 
ปริมาตรกระบอกสูบ (ซีซี) 2,393 2,755
ระบบเกียร์  อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมซีเควนเชี่ยล
และแพดเดิ้ล ชิฟต์
 อัตโนมัติ 6 สปีด พร้อมซีเควนเชี่ยล
และแพดเดิ้ล ชิฟต์
กำลังสูงสุด (PS)  150 ที่ 3,400 รอบ/นาที   177 ที่ 3,400 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด (Nm)  400 ที่ 1,600 - 2,000 รอบ/นาที      450 ที่ 1,600-2,400 รอบ/นาที
ระบบขับเคลื่อน  ขับเคลื่อน 2 ล้อ  ขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมระบบซิกม่าโฟร์ 
ระบบ Stop & Start   - มี
ขนาดล้อ-ยาง  265/60 R18   265/60 R18
การขับทดสอบ

การขับทดสอบช่วงแรกสตาร์ทจากภายในลานจอดสนามบินสุราษฎร์ธานีเวลาประมาณ 11.10 น. ขบวนมีรถฟอร์จูนเนอร์ใหม่ทั้งหมด 10 คัน โดยเป็นรุ่น 2.8V  กับ 2.4 V แบ่งตามหมายเลข ผู้เขียนได้นั่งรถหมายเลข 10 เป็นรุ่น 2.4V ขับเคลื่อน 2 ล้อ กำลัง 150 แรงม้าที่ 3,400 รอบต่อนาที แรงบิด 400 นิวตัน-เมตร พร้อมสื่อมวลชนอีก 3 ท่าน ช่วงแรกลองนั่งเบาะผู้โดยสารหน้า มีอาจารย์วรพล สิงห์เขียวพงษ์ เป็นผู้ขับ ขบวนมุ่งหน้าสู่ร้านอาหารลำพูเพื่อพักกลางวัน เส้นทางที่ใช้เป็นถนนหลวง สภาพพื้นผิวดี ช่วงนี้พอรู้สึกได้ถึงช่วงล่างที่นุ่มนวลให้ความสบาย แต่ระหว่างทางที่มักมีการเร่งแซงก็ได้ยินเสียงคำรามของเครื่องยนต์เข้ามาภายในห้องโดยสารชัดเจนเป็นระยะ ขณะที่เสียงรบกวนภายนอกอื่นๆ แทบไม่ได้ยิน (สังเกตในช่วงผ่อนคันเร่ง) จากการสอบถามภายหลังทางเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเทคนิคของโตโยต้าบอกว่า เป็นเพราะมีการเก็บเสียงภายในห้องโดยสารดีขึ้น จึงทำให้ได้ยินเสียงเครื่องยนต์ และสาเหตุหนึ่งก็มากจากเอนจิ้นบูม โตโยต้าพยายามทำเสียงรบกวนภายในห้องโดยสารให้มีความสมดุลมากที่สุด ผ่านไป 30 กม. ขบวนก็ถึงร้านอาหารลำพูเพื่อพักก่อนขับยาวสู่ภูเก็ต 
  
หลังจากพักกลางวัน ขบวนออกเดินทางต่อ วิ่งสู่เส้นทางเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เป็นระยะทางกว่า 65 กม. จึงแวะพักที่ปั๊มน้ำมัน จากนั้นเป็นการหวดยาวกว่า 140 กม. ไปตามถนนของเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่เป็นทางค่อนข้างตรงเป็นส่วนใหญ่ จึงสามารถทำความเร็วได้เต็มที่ แต่เพื่อความปลอดภัยเพราะมีผู้โดยสารและสัมภาระเต็มคัน ผู้ขับ (อาจารย์วรพล) จึงใช้ความเร็วระดับปานกลาง-ต่ำ ประกอบกับบางช่วงมีลมแรงและฝนตกหนักทำให้ทัศนวิสัยไม่ชัดเจนและควบคุมรถยากขึ้น แต่ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ก็ขับฝ่าอุปสรรคธรรมชาติไปได้อย่างไม่มีอาการใดๆ ให้วิตกกังวล

เมื่อถึงจุดพักที่ 3 ผู้เขียนจึงสลับไปขับบ้าง โดยมีระยะทางอีกประมาณ 75 กม. เข้าสู่ตัวเมืองภูเก็ต เพื่อไปสิ้นสุดขบวนที่ศูนย์บริการโตโยต้าเพิร์ล ช่วงนี้ยังมีสายฝนโปรยปรายอยู่ตลอด แม้ไม่หนักมากแต่ก็พอทำให้ถนนลื่น จึงต้องขับด้วยความระมัดระวัง แต่ด้วยสมรรถนะที่ยิ่งขับยิ่งมั่นใจ จึงเริ่มเติมความเร็วได้มากขึ้น การเร่งแซง การเปลี่ยนเลน และการเข้าโค้งด้วยความเร็วระดับ 80-100 กม./ชม. พบว่าตัวรถทรงตัวได้ดีเยี่ยมไม่มีอาการโคลงให้น่ากังวล จนถึงด่านก่อนเข้าตัวเมืองภูเก็ตผู้เขียนได้ลงมาสลับไปนั่งเบาะแถวสอง จากจุดนี้แม้เหลือระยะทางอีกไม่ไกลแต่ยิ่งเข้าตัวเมืองการจราจรก็เริ่มติดขัด การนั่งเบาะแถวสอง พร้อมปรับเอนจึงเป็นความสะดวกสบายท่ามกลางการขับแบบไปสลับหยุดนิ่ง จนถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพทุกคัน พร้อมพัก 1 คืน ก่อนเตรียมขับทดสอบแบบออฟโรดในวันรุ่งขึ้น

เมื่อถึงการขับทดสอบแบบออฟโรด ทางทีมงานโตโยต้าได้เตรียมรถรุ่น 2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ เพื่อเน้นการบุกตะลุยทุกอุปสรรค โดยวันก่อนการทดสอบได้มีฝนตกลงมาทำให้พื้นที่ออฟโรดทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น นับเป็นความท้าทายต่อสมรรถนะของ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ 
ผู้เขียนได้ลองขับพร้อมมีเจ้าหน้าที่ผู้ฝึกสอนนั่งไปด้วย เพื่อแนะนำการขับและใช้งานระบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับการขับที่แตกต่างตามสถานี โดยก่อนเข้าพื้นที่ออฟโรดได้จอดปรับโหมดของระบบขับเคลื่อนซิกม่าโฟร์เป็น L4 ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ สำหรับเส้นทางวิบากและเส้นทางที่ต้องการกำลังขับเคลื่อนสูง พร้อมเปิดระบบ HAC โดยสถานีแรกเป็นเนินดินชัน ผู้เขียนทดลองหยุดรถระหว่างทางขึ้น เพื่อทดสอบระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC (Hill-Start Assist Control) พบว่าสามารถหยุดไม่ต้องแตะคันเร่งได้ประมาณ 3 วินาที เพียงพอต่อการค่อยๆ ให้น้ำหนักเดินคันเร่งผ่านเนินขึ้นไปอย่างง่ายดาย ส่วนขาลงก็ปล่อยให้ระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC (Downhill Assist Control) ทำงาน โดยผู้เขียนไม่ต้องแตะเบรกช่วยแต่อย่างใด


สถานีสำคัญที่ทำเอาผู้เขียนตื่นเต้นไม่น้อยก็คือ การใช้ระบบป้องกันล้อหมุนฟรีแบบแอคทีฟ A-TRC (Active Traction Control) โดยทำงานเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับได้ว่าล้อใดเริ่มสูญเสียแรงขับเคลื่อน ระบบจะลดแรงขับที่ล้อนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้หมุนฟรี พร้อมเพิ่มแรงขับไปยังล้อที่เหลือ เพื่อให้เคลื่อนที่ต่อไปได้อย่างราบรื่น ด้วยระบบช่วยเหลืออันยอดเยี่ยมทำให้การขับฝ่าอุปสรรคในสถานีนี้ผ่านไปอย่างไร้ปัญหา แต่ก็ไม่ง่ายถึงขนาดขับไปได้่เรื่อยๆ เพราะต้องพยายามบังคับพวงมาลัยตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาคสนาม และค่อยๆ แตะเบรกช่วงจังหวะลงหลุม


จำลองสถานการณ์ที่ต้องใช้ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี A-TRC ลดแรงขับล้อลอย เพิ่มแรงในล้อที่แตะพื้น 
 
พิสูจน์ให้เห็นว่า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ลุยได้หมด แต่คงหาเจ้าของรถที่ตั้งใจขับไปลุยแบบนี้ยาก 
 
ฝนที่ตกลงมาก่อนหน้า ช่วยให้การทดสอบขับแบบออฟโรดได้อรรถรสมากยิ่งขึ้น 
อัตราสิ้นเปลือง
 
อัตราสิ้นเปลืองจอดวัดตัวเลขบนเรือนไมล์ที่ระยะ 207.8 กม. แสดงค่าอยู่ที่ 10.3 กม./ลิตร เป็นการขับทางไกลใช้ความเร็วได้อย่างต่อเนื่อง แม้เข็มความเร็วบนหน้าจออยู่ที่ 100 กม./ชม. และเข็มวัดรอบไม่ถึง 2,000 รอบต่อนาที ตัวรถมีผู้โดยสาร 4 คน พร้อมสัมภาระ แต่อัตราสิ้นเปลืองกลับอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างพอใช้ 

อุปกรณ์อำนวยความสะดวก

ภายในห้องโดยสารฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ครบครันด้วยอุปกรณ์ทันสมัย ตามมาตรฐานรถรุ่นใหม่ เช่น หน้าจอสัมผัสขนาด 7 นิ้ว ที่มีระบบนำทาง พร้อมเครื่องเล่น DVD และรองรับการเชื่อมต่อบลูทูธ ถัดลงมาเป็นระบบปรับอากาศอัตโนมัติที่ให้มาเกือบทุกรุ่น เว้นรุ่น 2.4 เกียร์แมนนวล ถัดลงมาอีกเป็นแผงรวมช่องต่อสารพัดอุปกรณ์ อย่าง USB, iPOD และ AUX รองรับการเชื่อมต่อครบ และน่าเป็นส่วนที่ใช้งานบ่อย ส่วนเบาะนั่งด้านคนขับสะดวกกับการปรับแบบไฟฟ้า 8 ทิศทาง ถ้าปกติขับคนเดียว การปรับครั้งเดียวก็เอาอยู่ แต่เอสยูวีราคาระดับล้านบาทถ้าไม่มีเบาะปรับไฟฟ้าก็ดูไม่ดีอีก
 
 
 ตำแหน่งปรับระบบขับเคลื่อนซิกม่าโฟร์ / DAC / VSC ถูกรวมอยู่กับแผงช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า
ไม่เหมือนกับ ไฮลักซ์ รีโว่ ที่รวมอยู่กับแผงระบบปรับอากาศ
  
ระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติมีให้เฉพาะรุ่นเครื่องยนต์ 2.8 ลิตร

ช่องต่ออุปกรณ์ไฟฟ้า กระแสตรง 12 โวลต์ และกระแสสลับ 220 โวลต์ กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของรถ
ระบบความปลอดภัย
  
ด้านความปลอดภัยนับเป็นจุดเด่นของ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ เพราะทุกรุ่นถูกบรรจุระบบเหล่านี้ เช่น ระบบเตือนการโจรกรรม และ Immobilizer / ไฟส่องสว่างเวลากลางวัน (Daytime Running Lights) / ไฟตัดหมอกหน้า / ไฟตัดหมอกหลัง / ไฟเบรกดวงที่ 3 แบบ LED / ไล่ฝ้ากระจกหลัง / เซ็นเซอร์กะระยะถอยหลัง / กล้องมองหลัง / ระบบป้องกันล้อล็อก ABS / ระบบกระจายแรงเบรก EBD / ระบบเสริมแรงเบรก BA / ระบบควบคุมการทรงตัว VSC / ระบบป้องกันล้อหมุนฟรี TRC (A-TRC เฉพาะรุ่น 2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ) / ระบบควบคุมการส่ายของส่วนพวงท้าย TSC / ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน HAC / โครงสร้างตัวถังนิรภัย GOA / คานเหล็กนิรภัยด้านข้าง / ระบบถุงลมเสริมความปลอดภัย SRS ด้านผู้ขับ ผู้โดยสาร และหัวเข่าผู้ขับ / ระบบถุงลมเสริมความปลอดภัย SRS ด้านข้าง และม่านนิรภัย ส่วนระบบควบคุมความเร็วขณะลงทางลาดชัน DAC เป็นระบบช่วยเหลือเดียวที่มีเฉพาะรุ่น 2.8V ขับเคลื่อน 4 ล้อ 
การทดสอบแบบออนโรด เป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 300 กม. เป็นไปอย่างปลอดภัย แทบไม่เปิดโอกาสให้ระบบช่วยเหลือใดๆ แม้แต่ ABS ทำงาน ด้านระบบเบรกหน้าดิสก์ขนาดใหญ่-หลังดรัม เมื่อเบรกพบว่านุ่มนวล ให้น้ำหนักได้ง่าย จึงสามารถควบคุม ชะลอ และหยุดรถได้อย่างที่ตั้งใจ ส่วนการขับแบบอออฟโรดก็ได้สัมผัสประสิทธิภาพของระบบ HAC / DAC และ A-TRC จนมั่นใจว่า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ ให้ความปลอดภัยทุกการขับเคลื่อนทั้งในแบบออนโรดและออฟโรด
 

ความคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา
  
 
ด้วยการพัฒนาครั้งสำคัญ สำหรับ ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ บนพื้นฐานร่วมกับไฮลักซ์ รีโว่ พร้อมเครื่องยนต์ดีเซลใหม่ 2 ขนาด และอีก 1 เครื่องยนต์เบนซิน ผสานจนเป็นเอสยูวี 7 ที่นั่ง หรูและแกร่ง ใช้งานได้ดีทั้งออนโรดและออฟโรด แยกจำหน่าย 5 รุ่น (ราคา 1,199,000 - 1,599,000 บาท) น่าจะทำให้แฟนๆ โตโยต้า พอใจได้สักรุ่น แต่ในช่วงที่มีการเปิดตัวเอสยูวีใหม่อีก 2 แบรนด์ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทางโตโยต้าเชื่อว่า ฟอร์จูนเนอร์ ใหม่ สามารถตอบโจทย์ผู้ที่กำลังมองหาเอสยูวีดีๆ ได้ด้วย คุณภาพ ความทนทาน และความน่าเชื่อถือ ส่วนผู้เขียนยังคงเชื่อใน 3 สิ่งนี้ คือ เห็นด้วยตา ลองด้วยตัวเอง จึงค่อยตัดสินใจซื้อครับ
แท็กที่เกี่ยวข้อง
CAR GURU
เขียนโดย เช็คราคา.คอม CAR GURU

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)