x
icon-filter ค้นหาบ้าน
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter
product filter

อยากมีบ้านหรือทาวน์โฮมก่อนอายุ 30+ ต้องทำยังไงบ้าง?

icon 13 มิ.ย. 65 icon 41,860
อยากมีบ้านหรือทาวน์โฮมก่อนอายุ 30+ ต้องทำยังไงบ้าง?
 
บ้านคือที่สุดของสินทรัพย์ที่ทุกคนอยากมีไว้ครอบครอง น้องๆ รุ่นใหม่หลายคนมีความตั้งใจอยากซื้อบ้านเป็นของตัวเองให้ได้ก่อนอายุ 30+ ถือเป็นความตั้งใจดีที่น่าส่งเสริม คิดได้ก่อนก็เริ่มได้เร็ว คนที่เริ่มกู้ซื้อบ้านเร็วก็จะมีระยะเวลาในการผ่อนส่งค่างวดได้นานกว่า (สูงสุด 30 ปี) ทำให้ภาระค่างวดรายเดือนไม่หนักมาก แถมถ้าซื้อประกันชีวิตคุ้มครองการส่งค่างวดบ้าน เบี้ยประกันก็จะมีราคาที่ถูกกว่าคนที่กู้ซื้อบ้านตอนอายุเยอะ CheckRaKa.com ส่งเสริมความคิดดีๆ ขอร่วมแชร์ขั้นตอนที่จะทำให้คุณกลายเป็นเจ้าของบ้านในฝันได้ก่อนอายุ 30+ ค่ะ

1. เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมาย และประเมินตัวเอง

ตั้งเป้าหมาย ด้วยการหาข้อมูล ราคาบ้านคร่าวๆ ในแบบที่เราอยากได้ โดยเลือกวิเคราะห์ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกและความต้องการของเรา เช่น อยากได้บ้านแบบไหน บ้านเดี่ยว หรือทาวน์โฮม ซึ่งถ้าเป็นทาวน์โฮม ราคาก็มักจะถูกกว่าบ้านเดี่ยว ทำเลที่เราต้องการก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น ใกล้ที่ทำงานหรือเดินทางได้สะดวก พอทราบว่าเราต้องการเลือกซื้อบ้านแบบไหนแล้ว เราก็จะพอทราบราคาบ้านคร่าวๆ ทำให้รู้เป้าหมายและทราบจำนวนเงินก้อนคร่าวๆ ที่เราต้องเก็บเพื่อใช้ดาวน์บ้าน ซึ่งเป็นเงินก้อนประมาณ 10-20% ของราคาบ้าน อย่างใครที่อยากซื้อบ้านราคา 1 ล้าน ก็ควรเก็บเงินดาวน์ให้ได้ที่ 1-2 แสนบาท เงินจำนวนนี้ยิ่งเก็บได้มากก็ยิ่งดี เพราะจะช่วยลดภาระในการผ่อน และเพิ่มโอกาสในการยื่นกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคารค่ะ

ประเมินตัวเอง นอกจากเก็บเงินก้อนในการดาวน์บ้านให้ได้ตามเป้าหมายที่เราตั้งไว้แล้ว การยื่นกู้เพื่อขอซื้อบ้านกับทางธนาคารให้ผ่านนั้น ยังมีอีกหลายปัจจัยในการพิจารณา ซึ่งส่วนนึงก็คือคุณสมบัติ และระดับรายได้ประจำของผู้ยื่นกู้ ดังนั้น ณ วันที่ต้องการยื่นกู้ซื้อบ้านกับทางธนาคาร เราจึงต้องประเมินตัวเองว่าเราสามารถซื้อบ้านได้ในระดับราคาแค่ไหน และผ่อนได้เท่าไหร่ต่อเดือน ซึ่งเบื้องต้นธนาคารจะมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตามนี้ค่ะ
✔️ธนาคารให้วงเงินกู้ 15-40 เท่าของรายได้ เช่น รายได้ 15,000 บาท จะสามารถกู้ซื้อบ้านได้ที่วงเงิน 6-8 แสนบาท
✔️ค่างวดที่ทางธนาคารกำหนดให้ชำระต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 25-30% ของรายได้ เช่น รายได้ 20,000 บาท ธนาคารจะประเมินว่าคุณมีความสามารถในการส่งค่างวดต่อเดือนที่ 5,000 - 6,000 บาท
✔️ธนาคารมักจะอนุมัติวงเงินเงินกู้ประมาณ 70-80% ของราคาประเมินบ้านที่เราจะกู้ซื้อ
✔️ระยะเวลาการให้กู้สูงสุดอยู่ที่ 30 ปี ยิ่งกู้นานค่างวดที่จ่ายรายเดือนก็จะถูกกว่าการกู้ระยะสั้น แต่ก็ต้องเสียดอกเบี้ยสูงไปด้วย
✔️อายุของผู้กู้เมื่อรวมกับจำนวนปีที่ขอกู้แล้ว ต้องไม่เกิน 70 ปี
✔️ถ้าขอยื่นกู้ซื้อบ้านกับธนาคารไม่ผ่านเพราะรายได้ไม่สูงพอกับวงเงินที่ต้องการกู้ เราสามารถหาผู้ยื่นกู้ร่วม ซึ่งควรเป็นคู่สมรส บิดามารดา บุตร หรือพี่น้องร่วมสายเลือดที่มีนามสกุลเดียวกัน

2. วิเคราะห์รายรับ-รายจ่าย และเก็บเงินให้ได้ทุกเดือน

การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย จะทำให้ตัวเราทราบว่าในแต่ละเดือนเรามีรายรับ-รายจ่ายที่แท้จริงเท่าไหร่ ส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนไหนเป็นค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นก็จะได้ตัดทิ้งหรือใช้ให้น้อยลง ทำให้เรามีวินัยในการใช้เงินและที่สำคัญเราจะรู้ถึงจำนวนเงินที่สามารถเก็บได้จริงในแต่ละเดือน เงินตัวนี้มาจากเงินที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายจำเป็น จะเป็นประโยชน์มากต่อการวางแผนเก็บเงินและลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าเงินค่ะ  
สูตรพื้นฐานการออม
วิธีออมเงินที่ถูกต้อง วิธีออมเงินที่ผิด
 รายได้ - เก็บเงินออม = ค่าใช้จ่าย  รายได้ - เอาไปใช้จ่าย = เงินออม

 

3. จริงจังกับการเก็บออมโดยแบ่งเงินออกเป็นสัดส่วนเพื่อเก็บและลงทุน

เมื่อทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำ จนรู้ถึงจำนวนเงินของภาระค่าใช้จ่ายจำเป็นและจำนวนเงินที่เราจะเก็บได้จริงแล้ว การจะบรรลุเป้าหมายเก็บเงินเพื่อซื้อบ้านให้ได้ก่อน 30+ นั้น น้องๆ ควรจะมุ่งมั่นเก็บเงินควบคู่ไปกับการลงทุนสร้างผลตอบแทนเพื่อเป้าหมายทำให้เงินโตเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อ (อัตราเงินเฟ้อประมาณ 3% ต่อปี) เพราะการเลือกเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารได้ดอกเบี้ยต่ำ การฝากธนาคารอย่างเดียวจึงทำให้เงินออมของเรามีค่าน้อยลงเรื่อยๆ
ปีแรกตั้งใจเก็บเงินให้ได้เป็นก้อนเพื่อนำเงินไปลงทุน โดยให้น้องแบ่งเงินจากรายได้ประจำออกเป็นสองส่วน เช่น กรณีที่น้องเพิ่งเริ่มทำงานเงินเดือนสตาร์ท 15,000 บาท หักประกันสังคม 750 บาท คงเหลือ 14,250 บาท อยู่อาศัยกับที่บ้าน ไม่มีภาระค่าใช้จ่ายอะไรก็น่าจะสามารถเก็บเงินได้เต็มที่ ให้น้องแบ่งเงินเป็นสองก้อนเท่าๆ กัน (ปรับสัดส่วนของการแบ่งเงินใช้จ่ายกับเงินออม ตามความจำเป็นของภาระค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมในแต่ละบุคคล)
✔️แบ่งก้อนแรก 50% หรือ 7,125 บาท สำหรับจ่ายค่ากินอยู่ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจำเป็นในชีวิตประจำวัน 
✔️แบ่งก้อนที่สอง 50% หรือ 7,125 บาท สำหรับเป็นเงินเก็บ ปีแรกให้ตั้งใจเก็บเงินอย่างเดียว 7,125 x 12 เดือน เท่ากับปีแรกสามารถเก็บได้ 85,500 บาท
✔️ในปีแรกของการทำงานเมื่อเก็บเงินก้อนแรกได้ 85,500 บาท ให้นำไปสมทบกับเงินโบนัสปลายปีที่ได้ (ถ้ามี) แล้วนำไปเลือกลงทุนในรูปแบบต่างๆ 2-3 ประเภท เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ เช่น แบ่งนำไปฝากประจำแบบไม่เสียภาษี ซื้อพันธบัตร หุ้น ตราสารหนี้ ตราสารทุน แต่อย่าเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพียงอย่างเดียวเพราะอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างน้อย 
ปีที่ 2 เป็นต้นไป เก็บเงินแบบเดิมแต่แบ่งสัดส่วนของการออมเพื่อจุดมุ่งหมายต่างๆ ให้ชัดเจน ด้วยการแบ่งเงินออมไปลงทุน ตามรูปแบบต่างๆ ที่เราเลือก โดยทุกครั้งที่เงินเดือนขึ้นหรือได้โบนัสให้สมทบนำเงินเงินส่วนต่างตรงนี้ไปลงทุนเพิ่ม
ตารางตัวอย่างการแบ่งรายได้ออกเป็นสัดส่วนเพื่อเก็บเงินและลงทุน
แบ่งเงิน 50% สำหรับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
(เช่น ค่ากิน, ค่าเดินทาง, ค่ามือถือ)
เลือกฝากออมทรัพย์ปกติ เพราะต้องการสภาพคล่อง
แบ่งเงิน 10% เงินเก็บฉุกเฉิน ให้สามารถจ่าย
ค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่รับผิดชอบ
ได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน
(เผื่อกรณีขาดรายได้ เช่น ตกงาน) 
ฝากประจำหรือเปิดบัญชีออนไลน์ที่ให้ดอกเบี้ยสูง 
เมื่อเก็บได้ครบตามเป้าหมาย ให้โยกสัดส่วนเงินเก็บนี้
ไปลงทุนเพิ่มตามเป้าหมายที่ตั้งใจแทน
แบ่งเงิน 20%  เงินเก็บตามเป้าหมายที่ตั้งใจ
(ใช้ดาวน์บ้านในอีก 7-8 ปีข้างหน้า) 
เลือกลงทุนแบบระยะสั้นถึงกลาง
  1. ฝากประจำแบบปลอดภาษี ครบปีที่ฝากก็ให้เอาไปลงทุนต่อ
  2. ซื้อพันธบัตร หรือสลากออมสิน ครบกำหนดก็ซื้อต่อไปเรื่อยๆ
  3. ลงทุนในกองทุนรวมรูปแบบต่างๆ 
  4. เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ให้ทยอยซื้อกองทุน LTF
    ให้ครบตามเกณฑ์ที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้
(เก็บไปจนถึงปีที่เราต้องการซื้อบ้าน กรณีตัวอย่างคือใช้ตอนอายุ 30 ปี) 
แบ่งเงิน 20%  เงินเก็บเพื่อลงทุน
(ศึกษาเพิ่มเติม,
ให้เงินทำงานแข่งกับอัตราเงินเฟ้อ) 
เลือกลงทุนแบบระยะยาว 2-3 รูปแบบเพื่อกระจายความเสี่ยง
  1. ออมในหุ้น เลือกซื้อหุ้นพื้นฐานดี (ไม่ควรลงทุนในระยะสั้น)
    ให้ลงทุนแบบระยะยาวด้วยการใช้เงินจำนวนเท่าๆ กัน
    ทยอยซื้อหุ้นสะสมเพิ่มในทุกเดือน
  2. ซื้อกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ หรือกองทุนอสังหา
  3. เมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ให้ซื้อกองทุน LTF, RMF
    ตามจำนวนที่จะนำมาลดหย่อนภาษี
  4. ทำประกันชีวิตในรูปแบบเงินออมสะสมทรัพย์ ระยะยาว 20 ปี
    หรือแบบคืนเงินเป็นบำนาญ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้  
 (เลือกลงทุนตามความต้องการ ในความเสี่ยงที่เรารับได้)

4. หาทางเพิ่มรายได้ให้มีมากกว่าช่องทางเดียว

ข้อนี้อาจจะต้องดูถึงปัจจัยความจำเป็นต่างๆ ของตัวน้องๆ นะคะ เช่น หากทำงานประจำที่มีหยุดเสาร์-อาทิตย์ น้องๆ ก็อาจรับจ๊อบเสริมทำงานเพิ่มในวันหยุด หรือหารายได้พิเศษจากการขายของออนไลน์ เลือกทำในเวลาว่างให้ไม่กระทบกับเวลาทำงานประจำนะคะ ไม่อย่างนั้นแทนที่จะมีรายได้เสริมเพิ่มอีกทางจะกลายเป็นรายได้หลักหลุดหายไปแทน เมื่อมีรายได้เพิ่มน้องๆ ก็ควรจะนำเงินที่ได้ตรงนี้ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่ม นอกเหนือจากเก็บและลงทุนจากเงินเดือนประจำเพียงอย่างเดียว

5. เพิ่มทักษะ แบ่งเงินเก็บส่วนหนึ่งไว้ลงทุนเพิ่มความรู้

อย่าหยุดหาความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนต่อในระดับปริญญาโท หรือลงเรียนในหลักสูตรเพิ่มทักษะความสามารถในรูปแบบต่างๆ เพราะความรู้จะช่วยอัพเกรดผลตอบแทนให้เราเหมือนเป็นทางลัดที่จะทำให้เงินเติบโตเพิ่มขึ้นอีกทาง ใส่ใจเพิ่มความสามารถในการหาเงินจะช่วยทำให้เรามีความสามารถในการเก็บเงินได้สูงขึ้นค่ะ

6. อย่าสร้างภาระหนี้สิน แต่จงสร้างเครดิตทางการเงิน

พอเงินเก็บเริ่มเพิ่มพูนเป็นก้อน ทีนี้กิเลศและความอยากได้ก็จะเริ่มมา ซึ่งจุดนี้เราต้องล็อคเป้าหมายให้มั่น อย่าลืมว่าเราเก็บเงินเพื่ออะไร พยายามห้ามใจอย่าก่อหนี้ก้อนใหญ่อย่างการซื้อรถก่อน (ยกเว้นถ้าซื้อแล้วทำให้เกิดรายได้เพิ่ม) เพราะนอกจากค่าผ่อนรายเดือนขั้นต่ำ 3-5 ปีแล้ว ค่าบำรุงรักษารถยนต์ก็เป็นรายจ่ายที่มีมาตลอด และแน่นอนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเก็บเงินและการทำเรื่องขอยื่นกู้ซื้อบ้านเป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าเราจะไม่สนับสนุนให้มีหนี้ก้อนใหญ่อย่างซื้อรถ แต่การสมัครบัตรเครดิตสัก 1-2 ใบ โดยไม่ใช้จ่ายเกินตัว และชำระเต็มจำนวนทุกเดือนก็ถือเป็นการสร้างเครดิตทางการเงินอย่างหนึ่ง ที่จะช่วยให้การอนุมัติกู้ซื้อบ้านจากธนาคารง่ายขึ้น เพราะธนาคารจะสามารถเช็คประวัติและดูวินัยการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของเราได้ง่ายขึ้น ดีกว่าปล่อยให้ไม่มี TRACK RECORD ทางด้านเครดิตเลย

7. มองหาสินเชื่อบ้านที่น่าสนใจและเรารับได้

หลักเกณฑ์คร่าวๆ ที่ต้องดู เช่น
✔️ขอสินเชื่อกู้ซื้อบ้านจากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง และมีความมั่นคง รวมถึงให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำที่ดี และอำนวยความสะดวกในการยื่นกู้และชำระค่างวดรายเดือน
✔️เลือกกู้กับสถาบันการเงินที่ให้เงื่อนไขดีที่สุด โดยควรเลือกเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระยะยาว ไม่ใช่แค่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ แค่ในปีแรกเท่านั้น
✔️ควรกู้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ หรือแบบลอยตัว โดยพิจารณาเปรียบเทียบจาก "อัตราดอกเบี้ยจริงตามประกาศ" และ "แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยหรือนโยบายสินเชื่อของสถาบันการเงินในระยะยาว" ที่ไหนให้ข้อเสนอระยะยาวที่ดีหรือให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ควรตัดสินใจ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำก็จะส่งผลทำให้เงินค่างวดรายเดือนที่เราต้องผ่อนชำระต่ำตามไปด้วย
✔️วงเงิน และระยะเวลาการกู้ แต่ละธนาคารอาจจะอนุมัติวงเงินกู้ หรือให้ระยะเวลาการกู้ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่องเงินค่างวดรายเดือน น้องๆ จึงควรพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย
✔️ต้องเสียค่าใช้จ่ายยังไรบ้างในการกู้เงิน เช่น ค่าประเมินมูลค่าหลักประกัน, ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้, ค่าธรรมเนียมการไถ่ถอนจำนองก่อนกำหนด หากต้องการปิดบัญชีและไถ่ถอนจำนองออกไปภายในระยะเวลา 3 ปีแรกของการกู้เงิน ซึ่งแต่ละแห่งก็จะคิดค่าธรรมเนียมมากน้อยแตกต่างกัน หรือบางสถาบันก็อาจจะมีโปรโมชั่นยกเว้นหรือไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมบางตัว
หากน้องๆ ทำตามขั้นตอนการเก็บเงินและลงทุนอย่างที่พี่ๆ CheckRaKa แนะนำ พออายุครบ 30+ ก็จะมีเงินก้อนอยู่ในมือเพียงพอที่จะเลือกดาวน์บ้านได้ในระดับที่ต้องการ (ต้องดูระดับรายได้และฐานเงินเดือน ณ ตอนตัดสินใจซื้อบ้านประกอบด้วยว่าต้องใช้เงินดาวน์เท่าไหร่) เห็นมั้ยคะว่าการมีบ้านก่อนอายุ 30+ นั้นสามารถเป็นจริงได้ และไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ยากเกินไป ถ้ารู้จักวางแผนการใช้จ่าย เก็บออมเงินไว้เพื่ออนาคตและที่สำคัญต้องรู้จักนำเงินออมไปต่อยอดด้วยการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้เงินโตแซงอัตราเงินเฟ้อที่ไม่หยุดนิ่งด้วยค่ะ
แท็กที่เกี่ยวข้อง ซื้อบ้านก่อนอายุ 30
Property Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Property Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)