รีวิว บัตรเครดิต SCB Xtra Platinum

icon 26 มิ.ย. 61 icon 53,651
รีวิว บัตรเครดิต SCB Xtra Platinum

รีวิวบัตรเครดิต ไทยพาณิชย์ เอ๊กซ์ตร้า แพลทินัม (SCB Xtra Platinum)
เปิดตัวกันมาได้พักใหญ่ๆ แล้วนะคะ สำหรับ บัตรเครดิต SCB Xtra Platinum โดยได้พระเอกดังอย่าง เจมส์ มาร์ เป็นพรีเซนเตอร์ แต่เรายังไม่โอกาสได้นำมารีวิวให้เพื่อนๆ ได้ดูกัน เพราะยังไม่ได้ตัวบัตรฯ จริงๆ สักที และเมื่อโอกาสเหมาะนั้นมาถึง เราก็ไม่รอช้าที่จะรีบหยิบบัตรฯ มารีวิวถึงสรรพคุณต่างๆ ที่เค้าว่ากันว่าจะได้ Wow! กันทั้ง Week นั้นจะเป็นยังไง จะได้รับคะแนนสะสม 2 เท่าด้วยวิธีการอย่างไร? รวมไปถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของบัตรเครดิตใบนี้ มีอะไรบ้าง? ต้องลองไปดูกันสักหน่อยแล้วล่ะค่ะ
(หมายเหตุ : อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ยกเลิกการให้บริการสมัครบัตรใหม่สำหรับบัตรเครดิต SCB Xtra Platinum แล้ว และนำสิทธิประโยชน์ของบัตรฯ ใบนี้ไปรวมเข้ากับบัตรเครดิต SCB Ultra Platinum)
ก่อนจะมาเป็น SCB Xtra Platinum
บัตรเครดิต SCB Xtra Platinum นั้นได้มีการ upgrade มาจากบัตรเครดิต SCB Gold (บัตรทอง) ค่ะ โดยได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ขึ้นมาจากเดิม ที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ การได้รับคะแนนสะสม SCB Rewards 2 เท่า จากเดิมที่ได้แค่เท่าเดียว แต่จะมีเงื่อนไขอยู่นิดหน่อยในการรับคะแนนสะสม 2 เท่า ส่วนจะเป็นอะไรนั้น ขออุบไว้ก่อนนะคะ
แกะกล่องรีวิวความสวยงามของตัวบัตรฯ
ก่อนที่จะไปดูสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบัตร ก็ต้องมาดูในส่วนของตัวบัตรเครดิตกันก่อนค่ะ ว่าจะสวยงามแค่ไหน?

บัตรเครดิต SCB Xtra Platinum มาในแพคเกจแบบซองสีน้ำตาลขนาดใหญ่กว่าซอง A4
และจ่าหน้าซองถึงผู้ถือบัตรฯ อย่าง ชัดเจน ปิดทับปากซองด้วยเทปกาวใสค่ะ

ด้านหลังซองแพคเกจบัตรเครดิตค่ะ เทปกาวที่ปิดผนึกซองมีข้อความระบุชัดเจนว่า "กรุณาปฏิเสธการรับหากชำรุดฉีกขาด"

แกะซองสีน้ำตาลออกมาแล้ว จะเจอกับกล่องสีม่วง ที่ภายในมีบัตรฯ และเอกสารประกอบแนบอยู่ค่ะ

ข้างในกล่องบรรจุบัตรเครดิตและเอกสารต่างๆ ค่ะ ประกอบด้วย คู่มือการใช้บัตรฯ,
หนังสือค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยบัตรฯ, เอกสารที่ระบุจำนวนวงเงินที่อนุมัติ วันที่ปิดยอดบัญชี
และเอกสารสิทธิประโยชน์ที่มาในรูปแบบของกระดาษแผ่นเดียวค่ะ

ตัวบัตรเครดิตติดอยู่กับฝาเปิดด้านในของกล่องสีม่วงค่ะ

ตัวบัตรฯ ด้านหน้า มีสีเทาเงิน แล้วก็มีลายใบโพธิ์สีม่วงอ่อน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำของธนาคารไทยพาณิชย์นั่นเองค่ะ ด้านบนมุมขวาสุดเป็นโลโก้ธนาคารฯ ถัดลงมาตรงกลางเป็นชิพการ์ด และชื่อบัตร "Xtra Platinum" ข้างๆ ชื่อนั้นจะมีสัญลักษณ์คล้ายๆ คลื่น (wave) เดี๋ยวเราค่อยตามไปดูกันค่ะว่า จะมีลักษณะพิเศษอะไรบ้าง
และหมายเลขบัตรฯ ทั้ง 16 หลัก ตามด้วยวัน เดือน ปีที่ออกบัตร และเดือน ปี ที่บัตรฯ หมดอายุค่ะ และชื่อของผู้ถือบัตรฯ เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวพิมพ์ใหญ่ มุมล่างขวาสุดเป็นสัญลักษณ์ VISA ค่ะ
 
ตัวบัตรฯ ด้านหลังมีเดียวกับด้านหน้า จากบทสุดของตัวบัตรฯ มีเบอร์โทรของศูนย์บริการลูกค้าหรือ Call Center จากนั้นเป็นแถบแม่เหล็ก พื้นที่สำหรับเซ็นชื่อเจ้าของบัตร และสัญลักษณ์  นั่นหมายความว่าสามารถนำไปกดเงินได้ที่ตู้กดเงินในต่างประเทศค่ะ (แต่ต้องระวังเรื่องค่าธรรมเนียมในการกดด้วย)
หมายเหตุ : หลายคนอาจสงสัยว่าเครื่องหมาย  และ  ต่างกันยังไง?
คำตอบคือ ไม่ต่างกันค่ะ ถ้าบัตรเครดิตของใครมีสัญลักษณ์ทั้งสองนี้อยู่ด้านหลังบัตร แสดงว่าบัตรเครดิตของคุณนั้นสามารถนำไปใช้กดเงินที่ตู้ ATM ได้ทั่วโลก เพียงแต่เครื่องหมายทั้งสองนั้นจะแยกกันอยู่ คือ PLUS จะอยู่บนบัตรฯ ประเภท VISA ส่วน CIRRUS นั้นจะอยู่บนบัตรฯ ประเภท MasterCard และ JCB ค่ะ

หนังสือคู่มือการใช้บัตรเครดิต เนื้อหาภายในก็จะบอกถึงขั้นตอนตั้งแต่ได้รับตัวบัตรฯ มาต้องทำยังไง บัตรหายต้องทำยังไง การแลกของรางวัล SCB Rewards รวมไปถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ในการใช้บัตรฯ 
สิทธิประโยชน์โดดเด่นของบัตรฯ
ถ้ากล่าวถึงสิทธิประโยชน์เด่นของบัตรฯ ใบนี้แล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องของคะแนนสะสม SCB Rewards ที่มอบความสะดวกสบายเอาไว้ในบัตรเดียว ด้วยแคมเปญ "Wow! ทั้ง Week" ค่ะ
Wow! ทั้ง Week รับคะแนนสะสมเป็น 2 เท่า เมื่อมียอดใช้จ่ายตรงวันตามหมวด

ผู้ถือบัตรฯ จะได้รับสิทธิประโยชน์ในการได้รับคะแนนสะสม Xtra 2 เท่า ทั้ง 7 วัน ตลอดสัปดาห์ กับ 7 หมวดไลฟ์สไตล์ เพียงแค่ซื้อวันใดวันหนึ่งในสัปดาห์ก็ได้ Xtra แล้วค่ะ โดยหมวดไลฟ์สไตล์ในแต่ละวันมีดังนี้
  • วันจันทร์ - หมวดแฟชั่น
ในการใช้จ่ายของวันจันทร์นั้น ธนาคารฯ ได้กำหนดให้เป็นหมวดของแฟชั่น ตามศูนย์การค้าต่างๆ เช่น เดอะมอลล์, เซ็นทรัล และสยามพารากอน เป็นต้น โดยจะรวมถึงการใช้จ่ายจำพวกเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และเครื่องสำอางต่างๆ หากผู้ถือบัตรฯ มีการวางแผนไว้แล้วว่าในแต่ละเดือนจะต้องซื้อสิ่งของเหล่านี้อยู่แล้ว ลองเลือกซื้อด้วยบัตรเครดิต SCB Xtra Platinum ในวันจันทร์ ก็จะได้รับคะแนนสะสม 2 เท่าแล้วค่ะ

  • วันอังคาร - หมวดเติมน้ำมัน
สำหรับผู้ถือบัตรฯ ที่เป็นผู้ใช้รถอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะต้องมีการเติมน้ำมันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก็จัดการวางแผนโดยการเติมน้ำมันและจ่ายผ่านบัตรเครดิตฯ ในทุกๆ วันอังคาร ของแต่ละสัปดาห์ไปเลย เพียงเท่านี้ก็จะได้รับคะแนนสะสมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และสามารถนำไปแลกเป็นของรางวัลต่างๆ ได้อีกด้วย

  • วันพุธ - หมวดซูเปอร์มาร์เก็ต
สำหรับการช้อปปิ้งในวันพุธนั้นจะต่างจากการช้อปในวันจันทร์ตรงที่ว่า ในวันพุธนี้เป็นการเลือกจับจ่ายใช้สอยผ่านบัตรฯ ในส่วนของข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวเรือนที่ซูเปอร์มาเก็ต และไฮเปอร์มาร์ททั่วไป เช่น ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต, เทสโก้ โลตัส และบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าทุกบ้านน่าจะมีความจำเป็นต้องซื้อของใช้เหล่านี้อยู่แล้ว เพียงแค่ลองปรับเปลี่ยนมาซื้อในวันพุธเพื่อให้ได้รับคะแนนสะสม X2 เท่านั้นเองค่ะ

  • วันพฤหัสฯ - หมวดดูหนัง ฟังเพลง
คอหนัง หรือคอภาพยนตร์ไม่น่าจะพลาดกับการเลือกชมภาพยนตร์เรื่องใหม่ ซึ่งมักจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์วันพฤหัสฯ ค่ะ และบัตรเครดิตฯ ใบนี้ก็รู้ใจผู้ที่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์แบบนี้ จึงมอบคะแนนสะสม 2 เท่า ให้ผู้ที่ชมภาพยนตร์ และจ่ายค่าตั๋วด้วยบัตรเครดิต SCB Xtra Platinum ในวันพฤหัสฯ ค่ะ

  • วันศุกร์ - หมวดทานอาหาร
โดยส่วนใหญ่แล้ว ในวันศุกร์พวกเราชอบที่จะสังสรรค์หรือไปทานอาหารกันอยู่แล้วใช่มั้ยคะ บัตรเครดิต SCB Xtra Platinum มาช่วยตอบโจทย์แล้ว กับการรับคะแนนสะสม 2 เท่า เมื่อใช้จ่ายในหมวดการทานอาหารในวันศุกร์ โดยผู้ถือบัตรฯ สามารถไปฉลองมื้ออาหารสุดพิเศษไม่ว่าจะกับเพื่อนฝูง คนรัก หรือครอบครัว  ทุกร้านอาหารชั้นนำที่ร่วมรายการ (ยกเว้นร้านอาหารในโรงแรม)

  • วันเสาร์ - หมวดท่องเที่ยว
วันหยุดสุดสัปดาห์ทั้งที หลายๆ คนก็มีฟีลอยากจะไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจบ้าง เช่น ทะเลสวยๆ น้ำตกใสๆ ซึ่งในประเทศของเราเองนั้นก็มีสถานที่ท่องเที่ยวให้ผ่อนคลายกันอยู่ไม่น้อย โดยไม่ต้องมองหาไกลถึงต่างประเทศ (หรืออยากจะไปต่างประเทศก็ได้) แล้วเลือกจ่ายค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน หรือจ่ายค่าที่พัก โรงแรม รีสอร์ทต่างๆ ด้วยบัตรเครดิตฯ ใบนี้ เพื่อรับคะแนนสะสม 2 เท่าค่ะ

  • วันอาทิตย์ - หมวดนวดสปา
หรือถ้าหากใครไม่อยากไปเที่ยว แต่อยากออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส ไปไดร์ฟกอล์ฟ หรือผ่อนคลายด้วยการนวดสปา ก็สามารถทำได้เช่นกัน แล้วก็อย่าลืมจ่ายด้วยบัตรเครดิตใบนี้ เพียงเท่านี้คะแนนสะสม X2 ก็อยู่ไม่ไกล
สรุป : การได้รับคะแนนสะสมพิเศษ 1 คะแนน (จากปกติที่ได้ทุกการใช้จ่าย 25 บาท = 1 คะแนน) คือเพียงแค่ผู้ถือบัตรฯ ไปเลือกใช้บัตรฯ ให้ตรงตามวัน และหมวดไลฟ์สไตล์ที่ธนาคารฯ กำหนดไว้แล้วข้างต้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้ให้ครบทุกวันตลอดสัปดาห์ โดยคะแนนพิเศษที่ว่านั้นจะปรากฎอยู่ในใบแจ้งยอดค่าใช้จ่าย หรือบิลเรียกเก็บในส่วนของสรุปคะแนนสะสมค่ะ
สิทธิเหนือระดับเฉพาะสำหรับผู้ถือบัตร SCB Xtra Platinum Visa payWave
จากที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น ในส่วนของรายละเอียดบนตัวที่จะมีสัญลักษณ์  นี้อยู่ หลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร เราลองมาดูกันว่าประโยชน์ของสัญลักษณ์นี้มีอะไรบ้าง?
  • สามารถใช้บัตรเพื่อชำระค่าสินค้า/ บริการ ได้ที่ร้านค้าทุกที่ทั่วโลก ที่มีสัญลักษณ์ VISA และร้านค้าทุกแห่งทั่วประเทศไทย ที่มีสัญลักษณ์
  • สำหรับการชำระค่าสินค้า/ บริการ ที่ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์  ด้วยวิธีการ wave นั้น จะช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้ถือบัตรฯ เพราะใช้เวลาในการจ่ายเงินน้อยกว่าคือ ไม่ต้องเซ็นชื่อในเซลส์สลิป เพียงแค่ยื่นบัตรเครดิตแตะที่เครื่อง VISA payWave ก็สามารถทำการจ่ายค่าสินค้าได้แล้วค่ะ
  • สำหรับยอดใช้จ่ายที่เราสามารถทำการจ่ายแบบ wave ได้นั้น คือยอดเงินที่ไม่เกิน 1,500 บาท/ รายการ แต่ถ้าหากยอดใช้นั้นมากกว่า 1,500 บาท/ รายการ ผู้ถือบัตรฯ จะต้องยื่นบัตรให้แก่พนักงานเพื่ออ่านข้อมูลจากชิปการ์ด หรือรูดแถบแม่เหล็ก พร้อมกับเซ็นชื่อบนเซลส์สลิปด้วย
และนอกจากการใช้บริการ VISA payWave จะได้ประโยชน์ในเรื่องของความสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลาแล้ว อาจจะได้รับโปรโมชั่นดีๆ จากธนาคารผู้ออกบัตรฯ อีกด้วย เช่น ได้รับเงินคืนเข้าบัญชีบัตร ดังภาพตัวอย่างด้านล่างนี้

ตัวอย่างโปรโมชั่นจากบัตรเครดิต SCB เมื่อใช้จ่าย ณ ร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ VISA payWave
SCB Personal Service 
สำหรับบริการ SCB Personal Service นี้จะมีให้เฉพาะลูกค้าบัตรเครดิตไทยพาณิชย์ที่เป็นบัตรระดับแพลทินัมขึ้นไป เช่น บัตรเครดิต Ultra Platinum, Beyond Platinum และบัตร SCB First เป็นต้น และบัตรเครดิต SCB Xtra Platinum นั้นก็ได้รับสิทธิพิเศษที่เทียบเท่ากับบัตรระดับสูงกว่าดังที่ยกตัวอย่างมาแล้วข้างต้น โดยบริการนี้จะเป็นเหมือนบริการเลขาส่วนตัวที่จะคอยช่วยเหลือ และให้คำแนะนำในด้านต่างๆ ตลอด 24 ชม. เช่น แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวพร้อมทั้งจองตั๋วเครื่องบินทั้งในและต่างประเทศ แนะนำร้านอาหาร จองบัตรชมการแสดงต่างๆ หรือแม้กระทั่งการจัดส่งของขวัญและดอกไม้ก็สามารถทำได้เช่นกัน (ยกเว้นบริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน และบริการช่วยเหลือภายในบ้าน) สำหรับช่องทางการติดต่อคือ โทรไปที่หมายเลข 02-777-7777 กด 3 และกด 4 ก็จะเข้าสู่ระบบของ SCB Personal Service โดยไม่ต้องรอสายนานเท่ากับการโทรเข้าไปที่เบอร์ของ Call Center ปกติ
(หมายเหตุ : บริการนี้เป็นบริการช่วยเหลือที่ทำหน้าที่เหมือนกันเลขาส่วนตัวเท่านั้น ไม่สามารถให้คำแนะนำของบัตรเครดิต หรือตรวจสอบข้อมูลบัตรเครดิตได้)

คะแนนสะสม SCB Rewards และการแลกรับเป็นเครดิตเงินคืนหรือของกำนัล

ทุกๆ การใช้จ่ายปกติ 25 บาท จะได้รับคะแนนสะสม SCB Rewards 1 คะแนน (25 บาท = 1 คะแนน) และจะได้รับคะแนนสะสม Xtra 2 เท่า (25 บาท = 2 คะแนน) เมื่อใช้จ่ายตรงวัน ตามหมวดที่กล่าวมาแล้วในส่วนของสิทธิประโยชน์ด้านบน แต่จำกัดยอดใช้จ่ายที่ได้รับ 2 เท่านี้แค่ 5,000 บาท/ หมวด/ บัตร/ รอบบิล เท่านั้น โดยคะแนนพิเศษจะปรากฎอยู่ในใบแจ้งยอดในรอบบิลถัดไปค่ะ
  • แลกไมล์สะสมกับสายการบินชั้นนำ โดยการโอนคะแนนสะสม SCB Rewards เป็นไมล์ เพื่อแลกตั๋วโดยสารเครื่องบิน ที่พักหรือบริการต่างๆ โดยเกณฑ์ในการแลกคะแนนสะสมเป็นไมล์ มีดังนี้
    - Royal Orchid Plus ของสายการบินไทย : อัตราการแลก 4 คะแนนสะสม SCB Rewards ต่อ 1 ไมล์ ROP เทียบเท่าทุกการใช้จ่ายปกติ 100 บาท แลกได้ 1 ไมล์ ROP ส่วนอัตราในการโอนคะแนนคือ ทุกๆ 1,000 ไมล์ (4,000 คะแนน) โดยผู้ถือบัตรฯ ต้องเป็นสมาชิกของ Royal Orchid Plus ก่อน จึงจะสามารถทำการโอนคะแนนเป็นไมล์ได้
    - BIG Point ของสายการบินแอร์เอเชีย : อัตราการแลก 2 คะแนน SCB Rewards ต่อ 1 คะแนนสะสม BIG Point เทียบเท่าทุกการใช้จ่ายปกติ 50 บาท แลกได้ 1 คะแนน BIG Point และอัตราในการโอนคะแนนคือ ทุกๆ 1,000 คะแนน BIG Point (2,000 คะแนน) โดยผู้ถือบัตรฯ จะต้องเป็นสมาชิกของ BIG Point เช่นเดียวกับ ROP จึงจะสามารถทำการโอนคะแนนสะสมได้
ตัวอย่างการใช้คะแนนสะสมแลกเป็นไมล์ หรือคะแนนสะสมของสายการบินต่างๆ ของบัตรในระดับใกล้เคียงกัน
จะเห็นว่า บัตรเครดิต Xtra Platinum นั้นสามารถแลกเป็น ROP ไมล์ของสายการบินไทย และคะแนนสะสม BIG Point ของสายการบินแอร์เอเชียได้ เดี๋ยวเราลองมาดูกันค่ะว่า บัตรเครดิตเจ้าอื่นๆ ในระดับใกล้เคียงกันนั้นให้อัตราการแลกไมล์เป็นเท่าไรกันบ้าง?
  • บัตรเครดิต กรุงศรี วีซ่า แพลทินัม ทุกการใช้จ่าย 20 บาท รับคะแนนสะสม 1 คะแนน
    - อัตราการแลกคะแนนสะสมต่อไมล์เท่ากับ 2 คะแนน ต่อ 1 ROP ไมล์ (เทียบเท่ากับทุกการใช้จ่าย 40 บาท แลกได้ 1 ROP ไมล์)
  • บัตรเครดิตแพลทินัม ธนาคารกรุงเทพ ทุกการใช้จ่าย 25 บาท รับคะแนนสะสม 1 คะแนน
    - อัตราการแลกคะแนนต่อไมล์เท่ากับ 2 คะแนนสะสม ต่อ 1 ROP ไมล์ (เทียบเท่าทุกการใช้จ่าย 50 บาท แลกได้ 1 ROP ไมล์)
  • บัตรเครดิตเคทีซี เจซีบี แพลทินัม ทุกการใช้จ่าย 25 บาท รับคะแนนสะสม 1 คะแนน
    - อัตราการแลกคะแนนต่อไมล์เท่ากับ 2 คะแนนสะสม ต่อ 1 ROP ไมล์ (เทียบเท่าทุกการใช้จ่าย 50 บาท แลกได้ 1 ROP ไมล์)
    - อัตราการแลกคะแนนสะสมต่อคะแนนสะสม BIG Point เท่ากับ 2 คะแนนสะสม ต่อ 1 คะแนนสะสม BIG Point (เทียบเท่าทุกการใช้จ่าย 50 บาท แลกได้ 1 คะแนน BIG Point)
ในเรื่องของการได้รับคะแนนสะสม จากการใช้จ่ายปกติ 25 บาท = 1 คะแนนนั้น ถือว่าเป็นเกณฑ์ปกติค่ะ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วบัตรเครดิตก็จะให้เรทนี้กันแทบทุกเจ้า แต่ความพิเศษของบัตรเครดิต Xtra Platinum นั้นอยู่ที่ การได้รับคะแนนสะสมเป็น 2 เท่า จากการใช้จ่ายที่ตรงวัน ตามหมวดที่ธนาคารฯ กำหนดมาให้ และยังเป็นการใช้จ่ายภายในประเทศอีกด้วย ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่ไม่ยุ่งยากมากเท่าไรนัก เพียงแต่เราต้องมีการจัดการบริหารเรื่องการใช้บัตรฯ ของเราให้ตรงหมวด และมีวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น เพียงเท่านี้เราก็จะได้รับคะแนนสะสมที่ Xtra มากยิ่งขึ้น
ความคุ้มครองในด้านต่างๆ ที่บัตรฯ มอบให้
สมาชิกบัตรเครดิต SCB Xtra Platinum จะได้รับความคุ้มครองอุบัติเหตุจากการเดินทาง ด้วยวงเงินรวมสูงสุด 6,000,000 บาท ในกรณีที่ผู้ถือบัตรฯ นั้นชำระเงินค่าตั๋วโดยสารผ่านบัตรฯ แต่ไม่รวมถึงความคุ้มครองกรณีเที่ยวบินล่าช้า และกระเป๋าเดินทางล่าช้าหรือสูญหายนะคะ
ลองมาดูตัวอย่างความคุ้มครองอุบัติเหตุจากการเดินทางของบัตรระดับใกล้เคียง
  • บัตรเครดิต กรุงศรี วีซ่า แพลทินัม
    - คุ้มครองอุบัติเหตุจากการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ด้วยวงเงินสูงสุด 6,000,000 บาท
    - รับค่าชดเชยกรณีเที่ยวบินล่าช้าเกินกว่า 6 ชั่วโมง และกระเป๋าเดินทางล่าช้าเกินกว่า 8 ชั่วโมง ด้วยวงเงินสูงสุด 10,000 บาท
  • บัตรเครดิต KTC Visa Platinum
    - คุ้มครองอุบัติเหตุจากการเดินทางด้วยวงเงินสูงสุด 8,000,000 บาท
    - ประกันกระเป๋าเดินทางสูญเสียและสูญหายจากการเดินทางไปต่างประเทศด้วยวงเงินสูงสุด 40,000 บาท
  • บัตรเครดิต CIMB THAI Visa Platinum
    - คุ้มครองอุบัติเหตุจากการเดินทางด้วยวงเงินสูงสุด 6,000,000 บาท
    - ค่ารักษาพยาบาลในต่างประเทศสูงสุด 50,000 บาท
    - คุ้มครองเที่ยวบินล่าช้า หรือกระเป๋าเดินทางล่าช้า หรือสูญหายสูงสุด 10,000 บาท
สำหรับวงเงินในการคุ้มครองอุบัติเหตุจากการเดินทางของบัตรฯ ใบนี้นั้น ถือว่าไม่น้อยหน้าบัตรฯ อื่นๆ ที่ยกตัวอย่างมาเลยเพียงแต่จะไปแพ้เจ้าอื่นก็ตรงเรื่องของความคุ้มครอง หรือการประกัน ชดเชยกรณีหากเที่ยวบิน - กระเป๋าเดินทางล่าช้า หรือกระเป๋าเดินทางสูญหายนี่แหละค่ะ เพราะนอกจากความคุ้มครองตัวผู้ถือบัตรฯ แล้ว การคุ้มครองทรัพย์สินหรือสิ่งของ หรือแม้กระทั่งเวลาของผู้ถือบัตรฯ ก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่เจ้าของบัตรฯ ควรได้รับเช่นกัน
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครบัตรฯ
คุณสมบัติของผู้สมัครบัตรหลัก
  • ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 - 70 ปี
  • มีรายได้รวมตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ต่อเดือน
คุณสมบัติของผู้สมัครบัตรเสริม
  • ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ถ้าอายุไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ผู้สมัครจะต้องเป็นบุตรของบัตรหลักเท่านั้น
  • เอกสารประกอบในการพิจารณาของธนาคารฯ คือ สำเนาบัตรประชาชนของผู้สมัครบัตรเสริมและบัตรหลัก
ค่าธรรมเนียมรายปี
ค่าธรรมเนียมแรกเข้า
  • บัตรหลัก : ฟรี
  • บัตรเสริม : ฟรี
ค่าธรรมเนียมรายปี
  • บัตรหลัก : ค่าธรรมเนียมรายปี 2,000 บาท/ ปี
  • บัตรเสริม : ฟรี
ยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี : ในกรณีที่บัตรหลักมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 50,000 บาท/ ปี ขึ้นไป
เปรียบเทียบค่าธรรมเนียมรายปีกับบัตรเครดิตในระดับใกล้เคียง
  • บัตรเครดิตซิตี้แบงก์ แคชแบ็ก แพลตตินั่ม
    - ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม
    - ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับบัตรหลัก 2,000 บาท และ 1,000 บาท สำหรับบัตรเสริม จะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมเมื่อมียอดใช้จ่ายตั้งแต่ 60,000 บาทขึ้นไป ต่อปี
  • บัตรเครดิตเคทีซี วีซ่า แพลทินัม ฟรี ค่าธรรมเนียมแรกเข้าและรายปีตลอดชีพโดยไม่มีเงื่อนไข ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม
  • บัตรเครดิตอิออน โกลด์ 
    - ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า ทั้งบัตรหลักและบัตรเสริม
    - ค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับบัตรหลัก 500 บาท/ ปี และค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับบัตรเสริม 250 บาท/ ปี (ไม่สามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมได้)
ในส่วนของค่าธรรมเนียมรายปีนั้นถือว่าค่อนข้างโหดอยู่ เพราะถ้าใช้จ่ายไม่ถึง 50,000 บาท ต่อปี ก็ไม่สามารถทำการยกเว้นได้ (แต่หากใครใช้จ่ายไม่ถึงและอยากขอยกเว้นค่าธรรมเนียมจริงๆ ก็ลองโทรไปขอได้ด้วยตัวเองเมื่อมีบิลเรียกเก็บมานะคะ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่อง case by case ไป) แต่ถ้าผู้ถือบัตรฯ สามารถ manage ค่าใช้จ่ายของตัวเองได้ตามที่กล่าวไว้แล้ว คือต้องใช้จ่ายให้ได้อย่างน้อยประมาณ 4,200 บาท ต่อเดือน (เท่ากับ 50,400 บาท ต่อปี) ก็จะสามารถยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีได้อย่างแน่นอน
สรุปวิเคราะห์รวบยอดสิทธิพิเศษต่างๆ ของบัตรฯ
แล้วก็มาถึงการสรุปรวบยอดของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบัตรกันแล้วนะคะ ซึ่งก็บอกได้เลยว่าดูเหมือนจะเป็นบัตรทั่วๆ ไป ใบนึง แต่ก็ไม่ธรรมดาทีเดียว
  • สิทธิพิเศษที่โดดเด่น
    ก็น่าจะเป็นเรื่องที่เป็นตัวชูโรงของบัตรฯ ใบนี้ค่ะ นั่นคือ "คะแนนสะสมพิเศษ 2 เท่า เมื่อใช้จ่ายตรงวัน ตามหมวด" ซึ่งผู้เขียนชอบในส่วนนี้ เพราะเหมือนบัตรฯ จะช่วยทำให้เราเป็นคนมีวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น ไม่ใช้จ่ายพร่ำเพรื่อและเกินความจำเป็นจนเกินไป จึงกำหนดการใช้จ่ายที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละวัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเราทั้งนั้นเลย
    (ดูบทความ : 8 ข้อผิดพลาดที่ควรเลี่ยง...ก่อนสมัครหรือใช้บัตรเครดิต)
    - ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือการชำระค่าใช้จ่ายโดยระบบ VISA payWave ซึ่งเป็นบริการที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ในการใช้จ่ายของคนรุ่นใหม่มากขึ้น เพราะเพียงแค่แตะตัวบัตรฯ ที่เครื่อง ก็สามารถชำระค่าสินค้า/ บริการต่างๆ ได้แล้ว แต่เพราะอะไรที่สะดวกสบายมากๆ มักแฝงมาด้วยอันตรายจึงได้มีการจำกัดยอดใช้จ่ายเพียงแค่ 1,500 บาท/ รายการ และสำหรับรายการซื้อสินค้าที่มากกว่า 1,500 บาท ยังต้องมีการเซ็นชื่อบนเซลส์สลิป ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ถือบัตรฯ อีกขั้นหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากต้องมีความระมัดระวังในการใช้บัตรเครดิตในการรูดซื้อสินค้าหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ แล้ว ข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือ อย่าให้บัตรเครดิตสูญหายหรือตกไปอยู่ในมือของมิจฉาชีพ เพราะเขาอาจจะนำบัตรไปใช้รูดซื้อของหรือก่อให้เกิดความเสียหายได้
  • คะแนนสะสม : เรื่องของคะแนนสะสม SCB Rewards ปกติ นั้นอยู่ในระดับกลางๆ คือ 25 บาท เท่ากับ 1 คะแนน แต่จะได้คะแนนพิเศษเพิ่มอีก 1 คะแนน (25 บาท = 2 คะแนน) เมื่อใช้จ่ายให้ตรงวัน ตามหมวดการใช้จ่ายที่ธนาคารฯ กำหนดมาให้ จากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น จะเห็นว่าการกำหนดหมวดการใช้จ่ายตามวันดังกล่าว จะช่วยทำให้ผู้ถือบัตรฯ รู้จักบริหารจัดการการใช้จ่ายของตนเองได้มากขึ้น หรือบางคนอาจมองว่ายุ่งยากเกินไปมั้ย? ที่จะต้องมาคอยเช็คว่าจะได้คะแนน 2 เท่า นั้นต้องซื้ออะไร วันไหน? ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนว่าจะชอบแบบนี้หรือไม่ แต่โดยส่วนตัวของผู้เขียนนั้นถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง ด้วยเหตุผลบางประการที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
    (ดูบทความ : คะแนนสะสมบัตรเครดิต แบงค์ไหนแลกอะไรได้บ้าง... ง่ายๆ แค่คลิก)
  • ค่าธรรมเนียมรายปี : ฟรีค่าธรรมเนียมแรกเข้า ส่วนค่าธรรมเนียมรายปีนั้นค่อนข้างสูงพอสมควร คือ 2,000 บาท/ ปี (สำหรับบัตรหลัก แต่บัตรเสริมฟรี) แต่จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีก็ต่อเมื่อมียอดค่าใช้จ่ายปีละ 50,000 บาท แต่ถ้าใช้จ่ายไม่ถึงจริงๆ ก็อาจจะต้องลองโทรไปขอยกเว้นดู ซึ่งทางธนาคารฯ จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป
    ตัวอย่าง : ถ้าเป็นคนที่ใช้รถในการดำเนินชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แน่นอนว่าจะต้องมีการเติมน้ำมันอย่างน้อย 1 - 2 สัปดาห์ต่อครั้ง ครั้งละประมาณ 1,000 บาท จะเป็นจำนวนเงิน 4,000 บาท/ เดือน และเท่ากับ 48,000 บาท/ ปี ที่เหลืออีกประมาณ 2,000 บาท ก็นำไปซื้อของใช้ที่จำเป็น (แต่อย่าลืมใช้จ่ายให้ตรงวัน ตามหมวดเพื่อจะได้รับคะแนนสะสม 2 เท่า) เพียงเท่านี้ผู้ถือบัตรฯ ก็ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าธรรมเนียมรายปีแล้ว
  • บัตรฯ นี้เหมาะกับใคร? : บัตรเครดิต SCB Xtra Platinum บอกได้เลยว่าเหมาะกับทุกเพศ ทุกวัย ที่ชื่นชอบการใช้จ่าย เพราะทุกๆ การใช้จ่ายที่ตรงตามหมวดในแต่ละวันนั้นจะได้รับคะแนนสะสมพิเศษ 2 เท่า และเรายังสามารถนำคะแนนสะสมนั้นไปแลกเป็นของรางวัล หรือไมล์สะสมของสายการบินไทย และคะแนนสะสมของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สได้อีกด้วย
ปิดท้ายด้วยโปรโมชั่นเด่นๆ จากบัตรเครดิต SCB Xtra Platinum (ถึงวันที่ 31 ส.ค. 59)
โปรโมชั่นพิเศษ ที่จะนำมาให้เพื่อนๆ ได้ชมนั้น รวมไปถึงโปรฯ สำหรับผู้ถือบัตรเครดิต SCB ทุกประเภทค่ะ รวมไปถึงบัตรเครดิต SCB Xtra Platinum ใบนี้ด้วย จะมีอะไรบ้างนั้น ไปเลือกชมกันได้เลย
SHOPPING
HOSPITAL
ONLINE MOVIE
MOBILE PHONE & TABLET
INSURANCE
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-777-7777 กด 3 และ กด 4 หรือเว็บไซต์ www.scbcreditcard.com
แท็กที่เกี่ยวข้อง บัตรเครดิต credit card สมัครบัตรเครดิต บัตรเครดิต scb xtra platinum แสดงสมัครบัตร
Money Guru
เขียนโดย เช็คราคา.คอม Money Guru

พูดคุยกับกูรูได้ที่




เว็บไซต์นี้มีการเก็บคุกกี้เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการใช้งานเว็บไซต์ และช่วยให้เราปรับปรุง และนำเสนอเนื้อหาตรงตามความสนใจของท่าน ท่านสามารถดู Privacy Notice และ ดู Cookies Policy ของเราได้ ที่นี่ ทั้งนี้ ท่านจะยินยอมให้เราเก็บคุกกี้ทั้งหมด หรือให้เก็บแค่บางส่วนโดยการคลิกเลือก ตั้งค่า

ท่านสามารถเลือกให้ความยินยอมการเก็บคุกกี้เป็นเรื่องๆ ได้ที่นี่

เมื่อคุณเข้าชมเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น checkraka เราอาจจัดเก็บ หรือดึงข้อมูลจากเบราว์เซอร์ของคุณในรูปแบบของคุกกี้ และเทคโนโลยีอื่นที่คล้ายคลึง เช่น tag และ pixel (เรียกรวมกันว่า “คุกกี้”) ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้โดยตรง แต่ช่วยให้คุณใช้งานเว็บไซต์ได้ปลอดภัย และตรงตามความต้องการมากขึ้น คุณอาจไม่ยินยอมให้เราเก็บคุกกี้บางประเภทได้ โดยการคลิกตามหัวข้อข้างล่างนี้

ประเภทคุกกี้
อ่านเพิ่มเติม ที่นี่
ยินยอม / ไม่ยินยอม
คุกกี้ที่จำเป็นต้องมีเสมอ
(Strictly Necessary)
คุกกี้สำหรับการใช้งานเว็บไซต์
(Functionality)
คุกกี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและวิเคราะห์
(Performance & Analytics)
คุกกี้เพื่อการตลาด
(Marketing)